เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [1. มหาวรรค] 1. ญาณกถา 2. สีลมยญาณนิทเทส
(ศีล 5 ประเภท คือ)
1. การละกิเลสทั้งปวงด้วยอรหัตตมรรค ชื่อว่าศีล
2. การเว้นกิเลสทั้งปวงด้วยอรหัตตมรรค ชื่อว่าศีล
3. เจตนาที่เป็นข้าศึกต่อกิเลสทั้งปวงด้วยอรหัตตมรรค ชื่อว่าศีล
4. ความสำรวมกิเลสทั้งปวงด้วยอรหัตตมรรค ชื่อว่าศีล
5. ความไม่ล่วงละเมิดกิเลสทั้งปวงด้วยอรหัตตมรรค ชื่อว่าศีล
ศีลดังกล่าวนี้ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เดือดร้อน เพื่อปราโมทย์ เพื่อปีติ เพื่อ
ปัสสัทธิ เพื่อโสมนัส เพื่อการปฏิบัติโดยเอื้อเฟื้อ เพื่อความเจริญ เพื่อทำให้มาก
เพื่อเป็นเครื่องประดับ เพื่อเป็นเครื่องป้องกัน เพื่อเป็นเครื่องแวดล้อม เพื่อความ
สมบูรณ์ ย่อมเป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ
เพื่อระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
[42] ความบริสุทธิ์ด้วยความสำรวมแห่งศีลดังกล่าวนี้ ชื่อว่าอธิสีล จิตที่ตั้ง
อยู่ในความบริสุทธิ์ด้วยความสำรวม ย่อมไม่ฟุ้งซ่าน ความบริสุทธิ์แห่งจิตที่ไม่
ฟุ้งซ่าน ชื่อว่าอธิจิต พระโยคาวจรเห็นความบริสุทธิ์ด้วยความสำรวมโดยชอบ
เห็นความบริสุทธิ์แห่งจิตที่ไม่ฟุ้งซ่านโดยชอบ ความบริสุทธิ์แห่งความเห็น (ทั้งสอง
ประการนี้) ชื่อว่าอธิปัญญา
บรรดาความสำรวม ความไม่ฟุ้งซ่าน และความเห็นนั้น ความสำรวม ชื่อว่า
อธิสีลสิกขา ความไม่ฟุ้งซ่าน ชื่อว่าอธิจิตตสิกขา ความเห็น ชื่อว่าอธิปัญญาสิกขา
พระโยคาวจรเมื่อนึกถึงสิกขา 3 นี้ ชื่อว่าศึกษา เมื่อรู้ ชื่อว่าศึกษา เมื่อเห็น
ชื่อว่าศึกษา เมื่อพิจารณา ชื่อว่าศึกษา เมื่ออธิษฐานจิต ชื่อว่าศึกษา เมื่อน้อมใจเชื่อ
ด้วยศรัทธา ชื่อว่าศึกษา เมื่อประคองความเพียร ชื่อว่าศึกษา เมื่อตั้งสติไว้มั่น
ชื่อว่าศึกษา เมื่อตั้งจิตไว้มั่น ชื่อว่าศึกษา เมื่อรู้ชัดด้วยปัญญา ชื่อว่าศึกษา เมื่อรู้ยิ่ง
ธรรมที่ควรรู้ยิ่ง ชื่อว่าศึกษา เมื่อกำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ชื่อว่าศึกษา เมื่อละ
ธรรมที่ควรละ ชื่อว่าศึกษา เมื่อทำให้แจ้งธรรมที่ควรทำให้แจ้ง ชื่อว่าศึกษา เมื่อ
เจริญธรรมที่ควรให้เจริญ ชื่อว่าศึกษา
ชื่อว่าญาณ เพราะมีสภาวะรู้ธรรมนั้น ชื่อว่าปัญญา เพราะมีสภาวะรู้ชัด เพราะ
เหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ปัญญาในการสดับธรรมแล้วสำรวมไว้ ชื่อว่าสีลมยญาณ
(ญาณในการสำรวมศีล)

สีลมยญาณนิทเทสที่ 2 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 31 หน้า :64 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [1. มหาวรรค] 1. ญาณกถา 3. สมาธิภาวนามยญาณนิทเทส
3. สมาธิภาวนามยญาณนิทเทส
แสดงสมาธิภาวนามยญาณ
[43] ปัญญาในการสำรวมตั้งจิตมั่น ชื่อว่าสมาธิภาวนามยญาณ เป็นอย่างไร
คือ
สมาธิ 1 อย่าง ได้แก่
เอกัคคตาจิต
สมาธิ 2 อย่าง ได้แก่
1. โลกิยสมาธิ
2. โลกุตตรสมาธิ
สมาธิ 3 อย่าง ได้แก่
1. สมาธิที่มีวิตกวิจาร
2. สมาธิที่ไม่มีวิตกมีเพียงวิจาร
3. สมาธิที่ไม่มีทั้งวิตกและวิจาร
สมาธิ 4 อย่าง ได้แก่
1. สมาธิที่เป็นส่วนแห่งความเสื่อม
2. สมาธิที่เป็นส่วนแห่งความตั้งอยู่
3. สมาธิที่เป็นส่วนแห่งคุณวิเศษ
4. สมาธิที่เป็นส่วนแห่งการชำแรกกิเลส
สมาธิ 5 อย่าง ได้แก่
1. สมาธิที่มีปีติแผ่ไป
2. สมาธิที่มีสุขแผ่ไป
3. สมาธิที่มีจิตแผ่ไป
4. สมาธิที่มีแสงสว่างแผ่ไป
5. สมาธิที่มีการพิจารณาเป็นนิมิต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 31 หน้า :65 }