เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [3. ปัญญาวรรค] 9. วิปัสสนากถา
ไม่ใช่สติ สติปรากฏด้วย เป็นตัวระลึกด้วย ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมเหล่านั้นด้วย
สตินั้นและด้วยญาณนั้น เพราะเหตุนั้น จึงเรียกการพิจารณาเห็นธรรมในธรรม
ทั้งหลายว่า สติปัฏฐานภาวนา
คำว่า ภาวนา อธิบายว่า ภาวนามี 4 อย่าง คือ
1. ชื่อว่าภาวนา เพราะมีความหมายว่าธรรมทั้งหลายที่เกิดในภาวนา
นั้นไม่ล่วงเลยกัน
2. ชื่อว่าภาวนา เพราะมีความหมายว่าอินทรีย์ทั้งหลายมีรสเป็น
อย่างเดียวกัน
3. ชื่อว่าภาวนา เพราะมีความหมายว่านำความเพียรที่สมควรแก่ธรรม
นั้นเข้าไป
4. ชื่อว่าภาวนา เพราะมีความหมายว่าปฏิบัติเนือง ๆ
ภิกษุเป็นผู้พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่อย่างนี้ ฉะนี้แล (4)
สติปัฏฐานกถา จบ

9. วิปัสสนากถา
ว่าด้วยวิปัสสนา
[36] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ภิกษุทั้งหลาย เป็นไปไม่ได้เลย1ที่ภิกษุผู้พิจารณาเห็นสังขารบางอย่างโดยความ
เที่ยง จักเป็นผู้ประกอบด้วยอนุโลมขันติ2 เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้ไม่ประกอบด้วย
อนุโลมขันติจักหยั่งลงสู่สัมมัตตนิยาม3เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้ไม่หยั่งลงสู่สัมมัตต-
นิยาม จักทำให้แจ้งโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล หรืออรหัตตผล (1)

เชิงอรรถ :
1 เป็นไปไม่ได้เลย หมายถึงปฏิเสธฐานะ (เหตุ) และปฏิเสธโอกาส (ปัจจัย) ที่เป็นไปได้ (ขุ.ป.อ. 2/36/367,
องฺ.เอกก.อ. 1/268/402)
2 อนุโลมขันติ หมายถึงวิปัสสนาญาณ (ขุ.ป.อ. 2/36/367)
3 สัมมัตตนิยาม หมายถึงโลกุตตรมรรค โดยวิเศษก็คือโสดาปัตติมรรค (ขุ.ป.อ. 2/36/367)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 31 หน้า :596 }