เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [3. ปัญญาวรรค] 2. อิทธิกถา
ภูมิแห่งฤทธิ์ 4 อย่างนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความได้ฤทธิ์ เพื่อความได้เฉพาะฤทธิ์
เพื่อแสดงฤทธิ์ได้ต่าง ๆ เพื่อความสำเร็จแห่งฤทธิ์ เพื่อความชำนาญในฤทธิ์ เพื่อ
ความแกล้วกล้าด้วยฤทธิ์
บาทแห่งฤทธิ์ 4 อย่าง อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
1. เจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยฉันทสมาธิปธานสังขาร
2. เจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยวิริยสมาธิปธานสังขาร
3. เจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยจิตตสมาธิปธานสังขาร
4. เจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยวิมังสาสมาธิปธานสังขาร
บาทแห่งฤทธิ์ 4 อย่างนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความได้ฤทธิ์ เพื่อความได้เฉพาะฤทธิ์
เพื่อแสดงฤทธิ์ได้ต่าง ๆ เพื่อความสำเร็จแห่งฤทธิ์ เพื่อความชำนาญในฤทธิ์ เพื่อ
ความแกล้วกล้าด้วยฤทธิ์
บทแห่งฤทธิ์ 8 อย่าง อะไรบ้าง คือ
ถ้าภิกษุอาศัยฉันทะได้สมาธิ ได้เอกัคคตาจิต ฉันทะไม่ใช่สมาธิ สมาธิก็ไม่ใช่
ฉันทะ ฉันทะเป็นอย่างหนึ่ง สมาธิก็เป็นอย่างหนึ่ง
ถ้าภิกษุอาศัยวิริยะได้สมาธิ ได้เอกัคคตาจิต วิริยะไม่ใช่สมาธิ สมาธิก็ไม่ใช่
วิริยะ วิริยะเป็นอย่างหนึ่ง สมาธิก็เป็นอย่างหนึ่ง
ถ้าภิกษุอาศัยจิตตะได้สมาธิ ได้เอกัคคตาจิต จิตตะไม่ใช่สมาธิ สมาธิก็ไม่ใช่
จิตตะ จิตตะเป็นอย่างหนึ่ง สมาธิก็เป็นอย่างหนึ่ง
ถ้าภิกษุอาศัยวิมังสาได้สมาธิ ได้เอกัคคตาจิต วิมังสาไม่ใช่สมาธิ สมาธิก็ไม่
ใช่วิมังสา วิมังสาเป็นอย่างหนึ่ง สมาธิก็เป็นอย่างหนึ่ง
บทแห่งฤทธิ์ 8 อย่างนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความได้ฤทธิ์ เพื่อความได้เฉพาะฤทธิ์
เพื่อแสดงฤทธิ์ได้ต่าง ๆ เพื่อความสำเร็จแห่งฤทธิ์ เพื่อความชำนาญในฤทธิ์ เพื่อ
ความแกล้วกล้าด้วยฤทธิ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 31 หน้า :563 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [3. ปัญญาวรรค] 2. อิทธิกถา
มูลแห่งฤทธิ์ 16 อย่าง อะไรบ้าง คือ
1. จิตไม่ฟุบลงย่อมไม่หวั่นไหวเพราะความเกียจคร้าน เพราะเหตุนั้น
จึงชื่อว่าอาเนญชา (ไม่หวั่นไหว)
2. จิตไม่ฟูขึ้นย่อมไม่หวั่นไหวเพราะอุทธัจจะ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า
อาเนญชา
3. จิตไม่ยินดีย่อมไม่หวั่นไหวเพราะราคะ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า
อาเนญชา
4. จิตไม่มุ่งร้ายย่อมไม่หวั่นไหวเพราะพยาบาท เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า
อาเนญชา
5. จิตอันทิฏฐิไม่อาศัยย่อมไม่หวั่นไหวเพราะทิฏฐิ เพราะเหตุนั้น
จึงชื่อว่าอาเนญชา
6. จิตไม่พัวพันย่อมไม่หวั่นไหวเพราะฉันทราคะ เพราะเหตุนั้น จึง
ชื่อว่าอาเนญชา
7. จิตหลุดพ้นย่อมไม่หวั่นไหวเพราะกามราคะ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า
อาเนญชา
8. จิตไม่เกาะเกี่ยวย่อมไม่หวั่นไหวเพราะกิเลส เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า
อาเนญชา
9. จิตปราศจากเครื่องครอบงำย่อมไม่หวั่นไหวเพราะความครอบงำ
กิเลส เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าอาเนญชา
10. จิตที่เป็นเอกัคคตารมณ์ย่อมไม่หวั่นเพราะกิเลสต่าง ๆ1 เพราะเหตุนั้น
จึงชื่อว่าอาเนญชา
11. จิตที่กำหนดด้วยศรัทธาย่อมไม่หวั่นไหวเพราะความไม่มีศรัทธา
เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าอาเนญชา
12. จิตที่กำหนดด้วยวิริยะย่อมไม่หวั่นไหวเพราะความเกียจคร้าน
เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าอาเนญชา

เชิงอรรถ :
1 กิเลสต่าง ๆ ในที่นี้หมายถึงกิเลสที่เป็นไปในอารมณ์ต่าง ๆ (ขุ.ป.อ. 2/9/311)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 31 หน้า :564 }