เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [2. ยุคนัทธวรรค] 10. สุญญกถา
บังคับจิตให้เป็นไปตามอำนาจด้วยเนกขัมมะเป็นต้นนั้น ชื่อว่าอธิษฐานพละ เพราะ
พระโยคาวจรย่อมอธิษฐานจิตด้วยเนกขัมมะเป็นต้นนั้น ชื่อว่าสมถพละ เพราะจิต
เป็นเอกัคคตารมณ์ด้วยเนกขัมมะเป็นต้นนั้น ชื่อว่าวิปัสสนาพละ เพราะพระ
โยคาวจรย่อมพิจารณาเห็นธรรมที่เกิดในภาวนานั้น ชื่อว่าเสกขพละ เพราะพระ
เสขะยังต้องศึกษาในสัมมาทิฏฐิเป็นต้นนั้น ชื่อว่าอเสกขพละ เพราะพระอเสขะ
ศึกษาในสัมมาทิฏฐิเป็นต้นนั้นเสร็จแล้ว ชื่อว่าขีณาสวพละ เพราะอาสวะทั้งหลาย
สิ้นแล้วด้วยความเห็นด้วยดีนั้น1 ชื่อว่าอิทธิพละ เพราะฤทธิ์ย่อมสำเร็จด้วยการ
อธิษฐานเป็นต้นด้วยการประกอบโดยชอบในส่วนนั้น ๆ เป็นปัจจัย ชื่อว่าตถาคตพละ
เพราะมีสภาวะมีกำลังหาประมาณมิได้ ฉะนี้
พลกถา จบ

10. สุญญกถา
ว่าด้วยความว่าง
[46] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ที่เขากล่าวกันว่า ‘โลกว่าง โลกว่าง’ ด้วยเหตุเท่าไรหนอ พระองค์จึงตรัสว่า
‘โลกว่าง”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ เพราะว่างจากอัตตาและจากสิ่งที่เนื่อง
ด้วยอัตตา ฉะนั้น เราจึงกล่าวว่า ‘โลกว่าง’ อานนท์ อะไรเล่าว่างจากอัตตาและ
จากสิ่งที่เนื่องด้วยอัตตา คือ จักขุเป็นธรรมว่างจากอัตตาและจากสิ่งที่เนื่องด้วย
อัตตา รูปว่างจากอัตตาและจากสิ่งที่เนื่องด้วยอัตตา จักขุวิญญาณเป็นธรรมว่าง

เชิงอรรถ :
1 ความเห็นด้วยดี ในที่นี้หมายถึงญาณที่เป็นโลกิยะและโลกุตตระ (ขุ.ป.อ. 2/45/276)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 31 หน้า :524 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [2. ยุคนัทธวรรค] 10. สุญญกถา 1. บทมาติกา
จากอัตตาและจากสิ่งที่เนื่องด้วยอัตตา จักขุสัมผัสเป็นธรรมว่างจากอัตตาและจาก
สิ่งที่เนื่องด้วยอัตตา แม้สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออุเบกขาเวทนาที่เกิดเพราะ
จักขุสัมผัสเป็นปัจจัยก็เป็นธรรมว่างจากอัตตาและจากสิ่งที่เนื่องด้วยอัตตา
โสตะ ฯลฯ สัททะ ฯลฯ ฆานะ ฯลฯ คันธะ ฯลฯ ชิวหา ฯลฯ รส ฯลฯ
กาย ฯลฯ โผฏฐัพพะ ฯลฯ มโนเป็นธรรมว่างจากอัตตาและจากสิ่งที่เนื่องด้วยอัตตา
ธรรมารมณ์เป็นธรรมว่างจากอัตตาและจากสิ่งที่เนื่องด้วยอัตตา มโนวิญญาณเป็น
ธรรมว่างจากอัตตาและจากสิ่งที่เนื่องด้วยอัตตา มโนสัมผัสเป็นธรรมว่างจากอัตตา
และจากสิ่งที่เนื่องด้วยอัตตา แม้สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออุเบกขาเวทนาที่เกิด
เพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัยก็เป็นธรรมว่างจากอัตตาและจากสิ่งที่เนื่องด้วยอัตตา
เพราะฉะนั้น เราจึงกล่าวว่า ‘โลกว่าง”

1. บทมาติกา

[47] 1. สุญญสุญญะ (ความว่างด้วยธรรมที่ว่าง)
2. สังขารสุญญะ (ความว่างด้วยธรรมที่เป็นสังขาร)
3. วิปริณามสุญญะ (ความว่างด้วยธรรมที่แปรผัน)
4. อัคคสุญญะ (ความว่างด้วยธรรมที่เป็นเลิศ)
5. ลักขณสุญญะ (ความว่างด้วยธรรมที่เป็นลักษณะ)
6. วิกขัมภนสุญญะ (ความว่างด้วยธรรมที่เป็นเหตุข่ม)
7. ตทังคสุญญะ (ความว่างด้วยธรรมที่เป็นคู่ปรับ)
8. สมุจเฉทสุญญะ (ความว่างด้วยธรรมที่เป็นเหตุให้ตัดขาด)
9. ปฏิปัสสัทธิสุญญะ (ความว่างด้วยธรรมที่เป็นเหตุให้สงบระงับ)
10. นิสสรณสุญญะ (ความว่างด้วยธรรมที่เป็นเหตุสลัดออก)
11. อัชฌัตตสุญญะ (ความว่างด้วยธรรมที่เป็นภายใน)
12. พหิทธาสุญญะ (ความว่างด้วยธรรมที่เป็นภายนอก)
13. ทุภโตสุญญะ (ความว่างด้วยธรรมที่เป็นภายในและภายนอก)
14. สภาคสุญญะ (ความว่างด้วยธรรมที่เป็นกลุ่มเดียวกัน)
15. วิสภาคสุญญะ (ความว่างด้วยธรรมที่ต่างกลุ่มกัน)


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 31 หน้า :525 }