เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [2. ยุคนัทธวรรค] 9. พลกถา
อิทธิพละ 10 อะไรบ้าง คือ

1. ฤทธิ์ที่อธิษฐาน 2. ฤทธิ์ที่แสดงได้ต่าง ๆ
3. ฤทธิ์ที่สำเร็จด้วยใจ 4. ฤทธิ์ที่แผ่ไปด้วยญาณ
5. ฤทธิ์ที่แผ่ไปด้วยสมาธิ 6. ฤทธิ์ของพระอริยะ
7. ฤทธิ์ที่เกิดจากผลกรรม 8. ฤทธิ์ของท่านผู้มีบุญ
9. ฤทธิ์ที่สำเร็จมาจากวิชชา

10. ชื่อว่าฤทธิ์ เพราะมีสภาวะสำเร็จด้วยการประกอบโดยชอบในส่วน
นั้น ๆ เป็นปัจจัย
นี้อิทธิพละ 10 (10) (=58)
ตถาคตพละ 10 อะไรบ้าง
คือ ตถาคตรู้ชัดฐานะโดยความเป็นฐานะและอฐานะ1โดยความเป็นอฐานะใน
โลกนี้ตามความเป็นจริง การที่ตถาคตรู้ชัดฐานะโดยความเป็นฐานะและอฐานะโดย
ความเป็นอฐานะตามความเป็นจริง นี้เป็นกำลังของตถาคต ที่ตถาคตอาศัยแล้ว
ยืนยันฐานะที่องอาจบันลือสีหนาท2ประกาศพรหมจักรในบริษัท3 (1)
ตถาคตรู้ชัดวิบากแห่งการยึดถือกรรมที่เป็นทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบัน
โดยฐานะ โดยเหตุตามความเป็นจริง การที่ตถาคตรู้ชัดวิบากแห่งการยึดถือกรรม
ที่เป็นทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบัน โดยฐานะ โดยเหตุตามความเป็นจริง นี้เป็น
กำลังของตถาคต ฯลฯ (2)

เชิงอรรถ :
1 ฐานะและอฐานะ ได้แก่ การณะและอการณะ (เหตุและสิ่งมิใช่เหตุ) (ขุ.ป.อ. 2/44/270)
2 บันลือสีหนาท หมายถึงคำพูดที่ตรัสด้วยท่าทีองอาจดังพญาราชสีห์ ไม่ทรงหวั่นเกรงผู้ใดเพราะทรงมั่น
พระทัยในศีล สมาธิ ปัญญาของพระองค์ (ที.สี.ฏีกา 1/403/432)
3 บริษัท ในที่นี้หมายถึงกลุ่มของบุคคลหลายสถานะที่มาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า เพื่อต้องการจะฟังพระ
ธรรมเทศนามี 8 กลุ่ม คือขัตติยบริษัท พราหมณบริษัท คหบดีบริษัท สมณบริษัท จาตุมหาราชิกา-
บริษัท ดาวดึงสบริษัท มารบริษัท และพรหมบริษัท (ขุ.ป.อ. 2/44/271, ม.มู. 12/151/112)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 31 หน้า :521 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [2. ยุคนัทธวรรค] 9. พลกถา
ตถาคตรู้ชัดปฏิปทาที่ให้ถึงภูมิทั้งปวงตามความเป็นจริง การที่ตถาคตรู้ชัด
ปฏิปทาที่ให้ถึงภูมิทั้งปวงตามความเป็นจริง นี้เป็นกำลังของตถาคต ฯลฯ (3)
ตถาคตรู้ชัดโลกธาตุหลายชนิด มีธาตุที่แตกต่างกันตามความเป็นจริง การที่
ตถาคตรู้ชัดโลกธาตุหลายชนิด มีธาตุที่แตกต่างกันตามความเป็นจริง นี้เป็นกำลัง
ของตถาคต ฯลฯ (4)
ตถาคตรู้ชัดว่าหมู่สัตว์เป็นผู้มีอัธยาศัยต่างกันตามความเป็นจริง การที่ตถาคต
รู้ชัดว่าหมู่สัตว์เป็นผู้มีอัธยาศัยต่างกันตามความเป็นจริง นี้เป็นกำลังของตถาคต
ฯลฯ (5)
ตถาคตรู้ชัดว่าสัตว์เหล่าอื่นและบุคคลเหล่าอื่นมีอินทรีย์แก่กล้าและมีอินทรีย์อ่อน
ตามความเป็นจริง การที่ตถาคตรู้ชัดว่าสัตว์เหล่าอื่นและบุคคลเหล่าอื่นมีอินทรีย์แก่
กล้าและมีอินทรีย์อ่อนตามความเป็นจริง นี้เป็นกำลังของตถาคต ฯลฯ (6)
ตถาคตรู้ชัดความเศร้าหมอง ความผ่องแผ้วแห่งฌาน วิโมกข์ สมาธิ และ
สมาบัติ และการออกจากฌาน วิโมกข์ สมาธิ และสมาบัติ ตามความเป็นจริง
การที่ตถาคตรู้ชัดความเศร้าหมอง ความผ่องแผ้วแห่งฌาน วิโมกข์ สมาธิ และ
สมาบัติ และการออกจากฌาน วิโมกข์ สมาธิ และสมาบัติตามความเป็นจริง
นี้เป็นกำลังของตถาคต ฯลฯ (7)
ตถาคตระลึกถึงชาติก่อนได้หลายชาติ คือ 1 ชาติบ้าง 2 ชาติบ้าง
ฯลฯ ระลึกถึงชาติก่อนได้หลายชาติ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้
การที่ตถาคตระลึกถึงชาติก่อนได้หลายชาติ คือ 1 ชาติบ้าง 2 ชาติบ้าง ฯลฯ
นี้เป็นกำลังของตถาคต ฯลฯ (8)
ตถาคตเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติและกำลังเกิดด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์
การที่ตถาคตเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติและกำลังเกิดด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์
นี้เป็นกำลังของตถาคต ฯลฯ (9)


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 31 หน้า :522 }