เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [2. ยุคนัทธวรรค] 6. ปฏิสัมภิทากถา 1. ธัมมจักกัปปวัตตนวาร
จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว
แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า “นี้ทุกขนิโรธ-
คามินีปฏิปทาอริยสัจ”
จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว
แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า “ทุกขนิโรธ-
คามินีปฏิปทาอริยสัจนี้ควรเจริญ” จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญา
เกิดขึ้นแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคย
ได้ฟังมาก่อนว่า “ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนี้เราได้เจริญแล้ว”
ภิกษุทั้งหลาย ยถาภูตญาณทัสสนะของเราในอริยสัจ 4 นี้ 3 รอบ1 12
อาการ2อย่างนี้ ยังไม่หมดจดดีตราบใด เราก็ยังไม่ยืนยันว่า เป็นผู้ตรัสรู้สัมมา-
สัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยม ในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่
สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ตราบนั้น
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใด ยถาภูตญาณทัสสนะของเราในอริยสัจ 4 นี้ 3 รอบ
12 อาการอย่างนี้ หมดจดดีแล้ว เมื่อนั้น เราจึงยืนยันได้ว่า เป็นผู้ตรัสรู้สัมมา-
สัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยม ในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่
สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ อนึ่ง ญาณทัสสนะเกิดขึ้นแล้วแก่
เราว่า “ความหลุดพ้นของเราไม่กำเริบ ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเวยยากรณ์3นี้จบลงแล้ว ภิกษุปัญจวัคคีย์ชื่นชม ยินดี
พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค
เมื่อพระผู้มีพระภาคกำลังตรัสเวยยากรณ์นี้อยู่ ธัมมจักขุ4อันปราศจากธุลี
ปราศจากมลทิน ได้เกิดแก่ท่านพระโกณฑัญญะว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้น
เป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา”

เชิงอรรถ :
1 3 รอบ ได้แก่ (1) สัจจญาณ (2) กิจจญาณ (3) กตญาณ (ขุ.ป.อ. 2/30/253)
2 12 อาการ ได้แก่ บรรดาสัจจะ 4 (ทุกข์,ทุกขสมุทัย, ทุกขนิโรธ, ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา) แต่ละสัจจะมี
อาการอย่างละ 3 จึงรวมเป็น 12 อาการ (ขุ.ป.อ. 2/30/253)
3 เวยยากรณ์ ในที่นี้หมายถึงพระสูตรที่ไม่มีคาถา ประกอบด้วยคำถามคำตอบ (สารตฺถ. ฏีกา 3/16/220)
เป็นองค์อันหนึ่งในนวังคสัตถุศาสน์ (วิ.อ. 1/26)
4 ธัมมจักขุ หมายถึงดวงตาเห็นธรรม คือ โสดาปัตติมัคคญาณ (วิ.อ. 3/56/27)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 31 หน้า :485 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [2. ยุคนัทธวรรค] 6. ปฏิสัมภิทากถา 1. ธัมมจักกัปปวัตตนวาร
ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมจักรให้เป็นไปแล้ว เทพชั้นภุมมะกระจาย
ข่าวว่า “นั่นธรรมจักรอันยอดเยี่ยม พระผู้มีพระภาคทรงให้เป็นไปแล้ว ณ ป่า
อิสิปตนมฤคทายวัน เขตกรุงพาราณสี อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม
หรือใคร ๆ ในโลกให้หมุนกลับไม่ได้”
เทพชั้นจาตุมหาราชได้สดับเสียงประกาศของเทพชั้นภุมมะแล้ว ได้กระจาย
ข่าวต่อไป ฯลฯ
เทพชั้นดาวดึงส์ได้สดับเสียงประกาศของเทพชั้นจาตุมหาราชแล้ว ได้กระจาย
ข่าวต่อไป ฯลฯ
เทพชั้นยามา ฯลฯ
เทพชั้นดุสิต ฯลฯ
เทพชั้นนิมมานรดี ฯลฯ
เทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดี ฯลฯ
เทพผู้นับเนื่องในหมู่พรหมสดับเสียงของเหล่าเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดีแล้ว
ก็กระจายข่าวว่า “นั่นธรรมจักรอันยอดเยี่ยม พระผู้มีพระภาคทรงให้เป็นไปแล้ว
ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตกรุงพาราณสี อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร
พรหม หรือใคร ๆ ในโลกให้หมุนกลับไม่ได้”
โดยขณะ1ครู่เดียวเท่านั้น เสียงป่าวประกาศได้กระจายขึ้นไปถึงพรหมโลก
ด้วยประการฉะนี้
ทั้งหมื่นโลกธาตุนี้ก็สั่นสะเทือนเลื่อนลั่น ทั้งแสงสว่างอันเจิดจ้าหาประมาณมิได้
ยิ่งกว่าเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลาย ก็ปรากฏในโลก
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเปล่งพระอุทานว่า “ผู้เจริญทั้งหลาย โกณฑัญญะ
ได้รู้แล้วหนอ ผู้เจริญทั้งหลาย โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ” ดังนั้น คำว่า “อัญญา-
โกณฑัญญะ” นี้ จึงได้เป็นชื่อของท่านโกณฑัญญะนั่นแล

เชิงอรรถ :
1 ดีดนิ้วมือ 10 ครั้ง เป็น 1 ขณะ, 10 ขณะ เป็น 1 ลยะ, 10 ลยะ เป็น 1 ขณลยะ, 10 ขณลยะ เป็น 1 ครู่
(อภิธา.ฏี.คาถา 66-67)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 31 หน้า :486 }