เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [2. ยุคนัทธวรรค] 1. ยุคนัทธกถา 1. สุตตันตนิทเทส
ประการดังนี้ สมถะและวิปัสสนาจึงมีรสเป็นอย่างเดียวกัน เป็นคู่กัน ไม่ล่วงเลยกัน
ด้วยมีสภาวะไม่มีปณิหิตะ ดังนี้ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า “เจริญสมถะและ
วิปัสสนาคู่กันไปด้วยมีสภาวะไม่มีปณิหิตะ”
ภิกษุเจริญสมถะและวิปัสสนาคู่กันไปด้วยมีสภาวะเป็นสุญญตะ เป็นอย่างไร
คือ เมื่อภิกษุละอุทธัจจะ จึงมีสมาธิคือความที่จิตเป็นเอกัคคตารมณ์ ไม่ฟุ้ง
ซ่าน ว่างจากอภินิเวสทั้งปวง มีนิโรธเป็นโคจร เมื่อภิกษุละอวิชชา จึงมีวิปัสสนา
เพราะมีสภาวะพิจารณาเห็น ว่างจากอภินิเวสทั้งปวง มีนิโรธเป็นโคจร ด้วยประการดังนี้
สมถะและวิปัสสนาจึงมีรสเป็นอย่างเดียวกัน เป็นคู่กัน ไม่ล่วงเลยกันด้วยมีสภาวะ
เป็นสุญญตะ ดังนี้ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า “เจริญสมถะและวิปัสสนาคู่กันไป
ด้วยมีสภาวะเป็นสุญญตะ”
คำว่า เจริญ อธิบายว่า ภาวนา (การเจริญ) มี 4 อย่าง คือ
1. ชื่อว่าภาวนา เพราะมีความหมายว่าธรรมทั้งหลายที่เกิดในภาวนา
นั้นไม่ล่วงเลยกัน
2. ชื่อว่าภาวนา เพราะมีความหมายว่าอินทรีย์ทั้งหลายมีรสเป็นอย่าง
เดียวกัน
3. ชื่อว่าภาวนา เพราะมีความหมายว่านำความเพียรที่สมควรแก่ธรรม
นั้นเข้าไป
4. ชื่อว่าภาวนา เพราะมีความหมายว่าปฏิบัติเนือง ๆ
คำว่า มรรคย่อมเกิด อธิบายว่า มรรคย่อมเกิดอย่างไร ฯลฯ มรรคย่อม
เกิดอย่างนี้ ฯลฯ ภิกษุย่อมละสังโยชน์ได้อย่างนี้ อนุสัยย่อมสิ้นไปอย่างนี้ ภิกษุเจริญ
สมถะและวิปัสสนาคู่กันไป ด้วยมีสภาวะเป็นสุญญตะอย่างนี้ ภิกษุเจริญสมถะและ
วิปัสสนาคู่กันไป ด้วยอาการ 16 อย่างนี้ ภิกษุเจริญสมถะและวิปัสสนาคู่กันไป
อย่างนี้

สุตตันตนิทเทส จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 31 หน้า :424 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [2. ยุคนัทธวรรค] 1. ยุคนัทธกถา 2. ธัมมุทธัจจวารนิทเทส
2. ธัมมุทธัจจวารนิทเทส
แสดงอุทธัจจะในธรรมกั้นไว้
[6] (ภิกษุ) มีใจถูกอุทธัจจะในธรรมกั้นไว้ เป็นอย่างไร
คือ เมื่อภิกษุมนสิการโดยความไม่เที่ยง โอภาสย่อมเกิดขึ้น ภิกษุนึกถึงโอภาส
ว่า “โอภาสเป็นธรรม” เพราะนึกถึงโอภาสนั้น ความฟุ้งซ่านเป็นอุทธัจจะ ภิกษุมี
ใจถูกอุทธัจจะนั้นกั้นไว้ ย่อมไม่รู้ชัดความปรากฏโดยความไม่เที่ยงตามความเป็นจริง
ไม่รู้ชัดความปรากฏโดยความเป็นทุกข์ตามความเป็นจริง ไม่รู้ชัดความปรากฏโดย
ความเป็นอนัตตาตามความเป็นจริง เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า มีใจถูกอุทธัจจะ
ในธรรมกั้นไว้ ในเวลาที่จิตตั้งมั่นสงบอยู่ภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ตั้งมั่นอยู่
มรรคก็เกิดแก่เธอ มรรคย่อมเกิดอย่างไร ฯลฯ มรรคย่อมเกิดอย่างนี้ ภิกษุย่อม
ละสังโยชน์ได้อย่างนี้ อนุสัยย่อมสิ้นไปอย่างนี้
เมื่อมนสิการโดยความไม่เที่ยง ญาณ (ความรู้) ย่อมเกิดขึ้น ปีติ (ความอิ่มใจ)
ย่อมเกิดขึ้น ปัสสัทธิ (ความสงบกายสงบใจ) ย่อมเกิดขึ้น สุข (ความสุข) ย่อมเกิดขึ้น
อธิโมกข์ (ความน้อมใจเชื่อ) ย่อมเกิดขึ้น ปัคคหะ (ความเพียรที่พอดี) ย่อมเกิดขึ้น
อุปัฏฐาน (สติแก่กล้า) ย่อมเกิดขึ้น อุเบกขา (ความมีใจเป็นกลาง) ย่อมเกิดขึ้น
นิกันติ (ความติดใจ) ย่อมเกิดขึ้น ภิกษุนึกถึงนิกันติว่า “นิกันติเป็นธรรม” เพราะนึกถึง
นิกันตินั้น ความฟุ้งซ่านเป็นอุทธัจจะ ภิกษุมีใจถูกอุทธัจจะนั้นกั้นไว้อย่างนี้ ย่อม
ไม่รู้ชัดความปรากฏโดยความไม่เที่ยงตามความเป็นจริง ไม่รู้ชัดความปรากฏโดย
ความเป็นทุกข์ตามความเป็นจริง ไม่รู้ชัดความปรากฏโดยความเป็นอนัตตา
ตามความเป็นจริง เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า มีใจถูกอุทธัจจะในธรรมกั้นไว้
ในเวลาที่จิตตั้งมั่นสงบอยู่ภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ตั้งมั่นอยู่ มรรคก็
เกิดแก่เธอ มรรคย่อมเกิดอย่างไร ฯลฯ มรรคย่อมเกิดอย่างนี้ ภิกษุย่อมละ
สังโยชน์ได้อย่างนี้ อนุสัยย่อมสิ้นไปอย่างนี้
เมื่อมนสิการโดยความเป็นทุกข์ ฯลฯ เมื่อมนสิการโดยความเป็นอนัตตา
โอภาสย่อมเกิดขึ้น ฯลฯ ญาณย่อมเกิดขึ้น ปีติย่อมเกิดขึ้น ปัสสัทธิย่อมเกิดขึ้น
สุขย่อมเกิดขึ้น อธิโมกข์ย่อมเกิดขึ้น ปัคคหะย่อมเกิดขึ้น อุปัฏฐานย่อมเกิดขึ้น


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 31 หน้า :425 }