เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [2. ยุคนัทธวรรค] 1. ยุคนัทธกถา 1. สุตตันตนิทเทส
คำว่า เมื่อเธอปฏิบัติมรรคนั้น ฯลฯ อนุสัยย่อมสิ้นไป อธิบายว่า ภิกษุ
ย่อมละสังโยชน์ได้อย่างไร อนุสัยย่อมสิ้นไปอย่างไร
คือ ย่อมละสังโยชน์ 3 นี้ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาส
อนุสัย 2 นี้ คือ ทิฏฐานุสัยและวิจิกิจฉานุสัย ย่อมสิ้นไปด้วยโสดาปัตติมรรค
ย่อมละสังโยชน์ 2 นี้ คือ กามราคสังโยชน์ และปฏิฆสังโยชน์ ส่วนหยาบ ๆ
อนุสัย 2 นี้ คือ กามราคานุสัยและปฏิฆานุสัยส่วนหยาบ ๆ ย่อมสิ้นไปด้วย
สกทาคามิมรรค
ย่อมละสังโยชน์ 2 นี้ คือ กามราคสังโยชน์และปฏิฆสังโยชน์ ส่วนละเอียด ๆ
อนุสัย 2 นี้ คือ กามราคานุสัยและปฏิฆานุสัยส่วนละเอียด ๆ ย่อมสิ้นไปด้วย
อนาคามิมรรค
ย่อมละสังโยชน์ 5 นี้ คือ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ และอวิชชา
อนุสัย 3 นี้ คือ มานานุสัย ภวราคานุสัย และอวิชชานุสัย ย่อมสิ้นไปด้วยอรหัตต-
มรรค ภิกษุย่อมละสังโยชน์ได้อย่างนี้ อนุสัยย่อมสิ้นไปอย่างนี้ ภิกษุชื่อว่าย่อม
เจริญวิปัสสนา มีสมถะนำหน้าอย่างนี้
[4] ภิกษุนั้นเจริญสมถะมีวิปัสสนานำหน้า เป็นอย่างไร
คือ ชื่อว่าวิปัสสนา เพราะมีสภาวะพิจารณาเห็นโดยความไม่เที่ยง ชื่อว่า
วิปัสสนา เพราะมีสภาวะพิจารณาเห็นโดยความเป็นทุกข์ ชื่อว่าวิปัสสนา เพราะมี
สภาวะพิจารณาเห็นโดยความเป็นอนัตตา สภาวะที่จิตปล่อยธรรมทั้งหลายที่เกิดใน
วิปัสสนานั้นเป็นอารมณ์ และสภาวะที่จิตเป็นเอกัคคตารมณ์ไม่ฟุ้งซ่าน เป็นสมาธิ
วิปัสสนาจึงมีก่อน สมถะมีภายหลัง ด้วยประการดังนี้ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
“เจริญสมถะมีวิปัสสนานำหน้า”
คำว่า เจริญ อธิบายว่า ภาวนา (การเจริญ) มี 4 อย่าง คือ ฯลฯ ชื่อว่า
ภาวนา เพราะมีความหมายว่าปฏิบัติเนือง ๆ
คำว่า มรรคย่อมเกิด อธิบายว่า มรรคย่อมเกิดอย่างไร ฯลฯ มรรคย่อม
เกิดอย่างนี้ ภิกษุย่อมละสังโยชน์ได้อย่างนี้ อนุสัยย่อมสิ้นไปอย่างนี้


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 31 หน้า :418 }