เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [1. มหาวรรค] 9. มัคคกถา
มรรคคือความไม่หวั่นไหวเพราะความไม่มีศรัทธา ชื่อว่าสัทธาพละ มรรคคือ
ความไม่หวั่นไหวเพราะความเกียจคร้าน ชื่อว่าวิริยพละ มรรคคือความไม่หวั่นไหว
เพราะความประมาท ชื่อว่าสติพละ มรรคคือความไม่หวั่นไหวเพราะอุทธัจจะ ชื่อว่า
สมาธิพละ มรรคคือความไม่หวั่นไหวเพราะอวิชชา ชื่อว่าปัญญาพละ
มรรคคือความน้อมใจเชื่อ ชื่อว่าสัทธินทรีย์ มรรคคือการประคองไว้ ชื่อว่า
วิริยินทรีย์ มรรคคือความตั้งมั่น ชื่อว่าสตินทรีย์ มรรคคือความไม่ฟุ้งซ่าน ชื่อว่า
สมาธินทรีย์ มรรคคือความเห็น ชื่อว่าปัญญินทรีย์
มรรคที่ชื่อว่าอินทรีย์ เพราะมีสภาวะเป็นใหญ่ มรรคที่ชื่อว่าพละ เพราะมี
สภาวะไม่หวั่นไหว มรรคที่ชื่อว่าโพชฌงค์ เพราะมีสภาวะนำออก มรรคที่ชื่อว่า
องค์แห่งมรรค เพราะมีสภาวะเป็นเหตุ มรรคที่ชื่อว่าสติปัฏฐาน เพราะมีสภาวะตั้งมั่น
มรรคที่ชื่อว่าสัมมัปปธาน เพราะมีสภาวะตั้งไว้ มรรคที่ชื่อว่าอิทธิบาท เพราะมี
สภาวะให้สำเร็จ มรรคที่ชื่อว่าสัจจะ เพราะมีสภาวะเป็นของแท้ มรรคที่ชื่อว่าสมถะ
เพราะมีสภาวะไม่ฟุ้งซ่าน มรรคที่ชื่อว่าวิปัสสนา เพราะมีสภาวะพิจารณาเห็น
มรรคที่ชื่อว่าสมถะและวิปัสสนา เพราะมีสภาวะมีรสเป็นอย่างเดียวกัน มรรคที่ชื่อ
ว่าธรรมที่เป็นคู่กัน เพราะมีสภาวะไม่ล่วงเลยกัน มรรคที่ชื่อว่าสีลวิสุทธิ เพราะมี
สภาวะสำรวม มรรคที่ชื่อว่าจิตตวิสุทธิ เพราะมีสภาวะไม่ฟุ้งซ่าน มรรคที่ชื่อว่า
ทิฏฐิวิสุทธิ เพราะมีสภาวะเห็น มรรคที่ชื่อว่าวิโมกข์ เพราะมีสภาวะหลุดพ้น
มรรคที่ชื่อว่าวิชชา เพราะมีสภาวะรู้แจ้ง มรรคที่ชื่อว่าวิมุตติ เพราะมีสภาวะสละ
มรรคที่ชื่อว่าญาณในความสิ้นไป เพราะมีสภาวะตัดขาด มรรคที่ชื่อว่าฉันทะ
เพราะมีสภาวะเป็นมูล มรรคที่ชื่อว่ามนสิการ เพราะมีสภาวะเป็นสมุฏฐาน มรรค
ที่ชื่อว่าผัสสะ เพราะมีสภาวะเป็นที่ประชุม มรรคที่ชื่อว่าเวทนา เพราะมีสภาวะเป็นที่รวม
มรรคที่ชื่อว่าสมาธิ เพราะมีสภาวะเป็นประธาน มรรคที่ชื่อว่าสติ เพราะมีสภาวะ
เป็นใหญ่ มรรคที่ชื่อว่าปัญญา เพราะมีสภาวะเป็นธรรมที่ยิ่งกว่าธรรมนั้น มรรคที่
ชื่อว่าวิมุตติ เพราะมีสภาวะเป็นแก่นสาร มรรคที่ชื่อว่าธรรมที่หยั่งลงสู่อมตะคือ
นิพพาน เพราะมีสภาวะเป็นที่สุด
มัคคกถา จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 31 หน้า :404 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [1. มหาวรรค] 10. มัณฑเปยยกถา
10. มัณฑเปยยกถา
ว่าด้วยพรหมจรรย์ที่ใสและน่าดื่ม
[238] ภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์นี้ใสและน่าดื่ม เมื่อพระศาสดายังปรากฏ
อยู่ ความใสมี 3 ประการ คือ
1. ความใสคือเทศนา 2. ความใสคือผู้รับ
3. ความใสคือพรหมจรรย์
ความใสคือเทศนา เป็นอย่างไร
คือ การบอก การแสดง การบัญญัติ การแต่งตั้ง การเปิดเผย การจำแนก
การทำให้ง่ายซึ่งอริยสัจ 4 ฯลฯ สติปัฏฐาน 4 ฯลฯ สัมมัปปธาน 4 ฯลฯ
อิทธิบาท 4 ฯลฯ อินทรีย์ 5 ฯลฯ พละ 5 ฯลฯ โพชฌงค์ 7 ฯลฯ การบอก
การแสดง การบัญญัติ การแต่งตั้ง การเปิดเผย การจำแนก การทำให้ง่ายซึ่ง
อริยมรรคมีองค์ 8 นี้เป็นความใสคือเทศนา (1)
ความใสคือผู้รับ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เทวดา มนุษย์ หรือท่านผู้รู้แจ้ง
พวกใดพวกหนึ่ง นี้เป็นความใสคือผู้รับ (2)
ความใสคือพรหมจรรย์ เป็นอย่างไร
คือ อริยมรรคมีองค์ 8 นี้ ได้แก่

1. สัมมาทิฏฐิ 2. สัมมาสังกัปปะ
3. สัมมาวาจา 4. สัมมากัมมันตะ
5. สัมมาอาชีวะ 6. สัมมาวายามะ
7. สัมมาสติ 8. สัมมาสมาธิ

นี้เป็นความใสคือพรหมจรรย์ (3)
[239] ความใสคือความน้อมใจเชื่อ ชื่อว่าสัทธินทรีย์ ความไม่มีศรัทธาเป็น
กาก1 บุคคลทิ้งความไม่มีศรัทธาอันเป็นกากแล้วดื่มความใสคือความน้อมใจเชื่อของ
สัทธินทรีย์ เพราะเหตุนั้น สัทธินทรีย์จึงชื่อว่ามีความใสและน่าดื่ม

เชิงอรรถ :
1 เป็นกาก หมายถึงเป็นของขุ่นมัวเว้นจากความผ่องใส (ขุ.ป.อ. 2/239/213)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 31 หน้า :405 }