เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [1. มหาวรรค] 5. วิโมกขกถา นิทเทส
บุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่งเจริญแล้ว กำลังเจริญ หรือจักเจริญ ซึ่งสติปัฏฐาน 4
ฯลฯ สัมมัปปธาน 4 ฯลฯ อิทธิบาท 4 ฯลฯ อินทรีย์ 5 ฯลฯ พละ 5 ฯลฯ
โพชฌงค์ 7 ฯลฯ อริยมรรคมีองค์ 8 บุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่งเจริญแล้ว กำลังเจริญ
หรือจักเจริญ ซึ่งวิโมกข์ 8 บรรลุแล้ว กำลังบรรลุ หรือจักบรรลุ ถึงแล้ว กำลังถึง
หรือจักถึง ได้แล้ว กำลังได้ หรือจักได้ รู้แจ้งแล้ว กำลังรู้แจ้ง หรือจักรู้แจ้ง
ทำให้แจ้งแล้ว กำลังทำให้แจ้ง หรือจักทำให้แจ้ง ถูกต้องแล้ว กำลังถูกต้อง หรือ
จักถูกต้อง ถึงความชำนาญแล้ว กำลังถึงความชำนาญ หรือจักถึงความชำนาญ
ถึงความสำเร็จแล้ว กำลังถึงความสำเร็จ หรือจักถึงความสำเร็จ ถึงความแกล้วกล้า
แล้ว กำลังถึงความแกล้วกล้า หรือจักถึงความแกล้วกล้า บุคคลเหล่านั้นทั้งหมด
เป็นสัทธาธิมุตด้วยอำนาจสัทธินทรีย์ เป็นกายสักขีด้วยอำนาจสมาธินทรีย์ เป็น
ทิฏฐิปัตตะด้วยอำนาจปัญญินทรีย์
บุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่ง บรรลุแล้ว กำลังบรรลุ หรือจักบรรลุซึ่งปฏิสัมภิทา 4
ฯลฯ บุคคลเหล่านั้นทั้งหมดเป็นสัทธาธิมุตด้วยอำนาจสัทธินทรีย์ เป็นกายสักขีด้วย
อำนาจสมาธินทรีย์ เป็นทิฏฐิปัตตะด้วยอำนาจปัญญินทรีย์
บุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่ง รู้แจ้งแล้ว กำลังรู้แจ้ง หรือจักรู้แจ้งซึ่งวิชชา 3 ฯลฯ
บุคคลเหล่านั้นทั้งหมดเป็นสัทธาธิมุตด้วยอำนาจสัทธินทรีย์ เป็นกายสักขีด้วย
อำนาจสมาธินทรีย์ เป็นทิฏฐิปัตตะด้วยอำนาจปัญญินทรีย์
บุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ศึกษาแล้ว กำลังศึกษา หรือจักศึกษาซึ่งสิกขา 3
ทำให้แจ้งแล้ว กำลังทำให้แจ้ง หรือจักทำให้แจ้ง ถูกต้องแล้ว กำลังถูกต้อง หรือ
จักถูกต้อง ถึงความชำนาญแล้ว กำลังถึงความชำนาญ หรือจักถึงความชำนาญ
ถึงความสำเร็จแล้ว กำลังถึงความสำเร็จ หรือจักถึงความสำเร็จ ถึงความแกล้วกล้า
แล้ว กำลังถึงความแกล้วกล้า หรือจักถึงความแกล้วกล้า บุคคลเหล่านั้นทั้งหมด
เป็นสัทธาธิมุตด้วยอำนาจสัทธินทรีย์ เป็นกายสักขีด้วยอำนาจสมาธินทรีย์ เป็น
ทิฏฐิปัตตะด้วยอำนาจปัญญินทรีย์
บุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่ง กำหนดรู้ทุกข์ ละสมุทัย ทำให้แจ้งนิโรธ เจริญมรรค
บุคคลเหล่านั้นทั้งหมดเป็นสัทธาธิมุตด้วยอำนาจสัทธินทรีย์ เป็นกายสักขีด้วย
อำนาจสมาธินทรีย์ เป็นทิฏฐิปัตตะด้วยอำนาจปัญญินทรีย์


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 31 หน้า :375 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [1. มหาวรรค] 5. วิโมกขกถา นิทเทส
การรู้แจ้งสัจจะมีได้ด้วยอาการเท่าไร บุคคลรู้แจ้งสัจจะด้วยอาการเท่าไร
คือ การรู้แจ้งสัจจะมีได้ด้วยอาการ 4 อย่าง บุคคลรู้แจ้งสัจจะด้วยอาการ 4
อย่าง ได้แก่
1. รู้แจ้งทุกขสัจว่า เป็นธรรมที่ควรรู้แจ้งด้วยการกำหนดรู้
2. รู้แจ้งสมุทยสัจว่า เป็นธรรมที่ควรรู้แจ้งด้วยการละ
3. รู้แจ้งนิโรธสัจว่า เป็นธรรมที่ควรรู้แจ้งด้วยการทำให้แจ้ง
4. รู้แจ้งมัคคสัจว่า เป็นธรรมที่ควรรู้แจ้งด้วยการเจริญ
การรู้แจ้งสัจจะมีได้ด้วยอาการ 4 อย่างนี้ บุคคลเมื่อรู้แจ้งสัจจะด้วยอาการ 4
อย่างนี้ เป็นสัทธาธิมุตด้วยอำนาจสัทธินทรีย์ เป็นกายสักขีด้วยอำนาจสมาธินทรีย์
เป็นทิฏฐิปัตตะด้วยอำนาจปัญญินทรีย์
การรู้แจ้งสัจจะมีได้ด้วยอาการเท่าไร บุคคลรู้แจ้งสัจจะด้วยอาการเท่าไร
คือ การรู้แจ้งสัจจะมีได้ด้วยอาการ 9 อย่าง บุคคลรู้แจ้งสัจจะด้วยอาการ 9
อย่าง ได้แก่
1. รู้แจ้งทุกขสัจว่า เป็นธรรมที่ควรรู้แจ้งด้วยการกำหนดรู้
2. รู้แจ้งสมุทยสัจว่า เป็นธรรมที่ควรรู้แจ้งด้วยการละ
3. รู้แจ้งนิโรธสัจว่า เป็นธรรมที่ควรรู้แจ้งด้วยการทำให้แจ้ง
4. รู้แจ้งมัคคสัจว่า เป็นธรรมที่ควรรู้แจ้งด้วยการเจริญ
5. รู้แจ้งธรรมทั้งปวงด้วยความรู้ยิ่ง
6. รู้แจ้งสังขารทั้งปวงด้วยการกำหนดรู้
7. รู้แจ้งอกุศลธรรมทั้งปวงด้วยการละ
8. รู้แจ้งมรรค 4 ด้วยการเจริญ
9. รู้แจ้งนิโรธด้วยการทำให้แจ้ง
การรู้แจ้งสัจจะมีได้ด้วยอาการ 9 อย่างนี้ บุคคลเมื่อรู้แจ้งสัจจะด้วยอาการ 9
อย่างนี้ เป็นสัทธาธิมุตด้วยอำนาจสัทธินทรีย์ เป็นกายสักขีด้วยอำนาจสมาธินทรีย์
เป็นทิฏฐิปัตตะด้วยอำนาจปัญญินทรีย์
ทุติยภาณวาร จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 31 หน้า :376 }