เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [1. มหาวรรค] 3. อานาปานัสสติกถา 6. ญาณราสิฉักกนิทเทส
8. ปัญญาในการเห็นสังขารปรากฏโดยความเป็นภัยของบุคคลผู้
พิจารณาเห็นความสละคืนหายใจออก ชื่อว่านิพพิทานุโลมญาณ
นิพพิทานุโลมญาณ 8 ประการนี้ (4)
นิพพิทาปฏิปัสสัทธิญาณ 8 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. ปัญญาที่พิจารณาแล้วดำรงมั่นอยู่ของบุคคลผู้พิจารณาเห็นความไม่
เที่ยงหายใจเข้า ชื่อว่านิพพิทาปฏิปัสสัทธิญาณ
2. ปัญญาที่พิจารณาแล้วดำรงมั่นอยู่ของบุคคลผู้พิจารณาเห็นความไม่
เที่ยงหายใจออก ชื่อว่านิพพิทาปฏิปัสสัทธิญาณ
ฯลฯ
นิพพิทาปฏิปัสสัทธิญาณ 8 ประการนี้ (5)
ญาณในวิมุตติ 21 ประการ เป็นอย่างไร
คือ ด้วยโสดาปัตติมรรค ญาณในวิมุตติสุขเกิดขึ้น เพราะละ ตัดขาดสักกาย-
ทิฏฐิ ญาณในวิมุตติสุขเกิดขึ้น เพราะละ ตัดขาดวิจิกิจฉา ญาณในวิมุตติสุขเกิดขึ้น
เพราะละ ตัดขาดสีลัพพตปรามาส ญาณในวิมุตติสุขเกิดขึ้น เพราะละ ตัดขาด
ทิฏฐานุสัย ญาณในวิมุตติสุขเกิดขึ้น เพราะละ ตัดขาดวิจิกิจฉานุสัย
ด้วยสกทาคามิมรรค ญาณในวิมุตติสุขเกิดขึ้น เพราะละ ตัดขาดกามราค-
สังโยชน์อย่างหยาบ ญาณในวิมุตติสุขเกิดขึ้น เพราะละ ตัดขาดปฏิฆสังโยชน์
อย่างหยาบ ญาณในวิมุตติสุขเกิดขึ้น เพราะละ ตัดขาดกามราคานุสัยอย่างหยาบ
ญาณในวิมุตติสุขเกิดขึ้น เพราะละ ตัดขาดปฏิฆานุสัยอย่างหยาบ
ด้วยอนาคามิมรรค ญาณในวิมุตติสุขเกิดขึ้น เพราะละ ตัดขาดกามราค-
สังโยชน์อย่างละเอียด ... ปฏิฆสังโยชน์อย่างละเอียด ... กามราคานุสัยอย่างละเอียด
... ปฏิฆานุสัยอย่างละเอียด
ด้วยอรหัตตมรรค ญาณในวิมุตติสุขเกิดขึ้น เพราะละ ตัดขาดรูปราคะ ...
อรูปราคะ ... มานะ ... อุทธัจจะ ... อวิชชา ... มานานุสัย ... ภวราคานุสัย... อวิชชานุสัย
ญาณในวิมุตติสุข 21 ประการนี้แล เมื่อบุคคลเจริญสมาธิที่ประกอบด้วย
อานาปานสติอันมีวัตถุ 16 ญาณเกินกว่า 200 นี้ย่อมเกิดขึ้น (6)

อานาปานัสสติกถา จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 31 หน้า :289 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [1. มหาวรรค] 4. อินทริยกถา 1. ปฐมสุตตันตนิทเทส
4. อินทริยกถา
ว่าด้วยอินทรีย์
1. ปฐมสุตตันตนิทเทส
แสดงสูตรที่ 1
[184] ข้าพเจ้า (พระอานนท์) ได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมา
ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาค
จึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
ภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ 5 ประการนี้
อินทรีย์ 5 ประการ อะไรบ้าง คือ

1. สัทธินทรีย์ (อินทรีย์คือศรัทธา)
2. วิริยินทรีย์ (อินทรีย์คือวิริยะ)
3. สตินทรีย์ (อินทรีย์คือสติ)
4. สมาธินทรีย์ (อินทรีย์คือสมาธิ)
5. ปัญญินทรีย์ (อินทรีย์คือปัญญา)

ภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ 5 ประการนี้แล
[185] อินทรีย์ 5 ประการนี้ ย่อมหมดจดด้วยอาการเท่าไร
คือ อินทรีย์ 5 ประการนี้ ย่อมหมดจดด้วยอาการ 15 อย่าง ได้แก่
เมื่อบุคคลเว้นบุคคลผู้ไม่มีศรัทธา สมาคม คบหา นั่งใกล้บุคคลผู้มีศรัทธา (และ)
พิจารณาพระสูตรที่เป็นเหตุนำมาซึ่งความเลื่อมใส สัทธินทรีย์ย่อมหมดจดด้วยอาการ
3 อย่างนี้
เมื่อบุคคลเว้นบุคคลผู้เกียจคร้าน สมาคม คบหา นั่งใกล้บุคคลผู้มีความเพียร
(และ) พิจารณาสัมมัปปธาน วิริยินทรีย์ย่อมหมดจดด้วยอาการ 3 อย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 31 หน้า :290 }