เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [1. มหาวรรค] 3. อานาปานัสสติกถา 5. สโตการิญาณนิทเทส
[182] ภิกษุสำเหนียกว่า “เราพิจารณาเห็นความสละคืนหายใจเข้า”
สำเหนียกว่า “เราพิจารณาเห็นความสละคืนหายใจออก” อย่างไร
คำว่า ความสละคืน อธิบายว่า ความสละคืนมี 2 อย่าง คือ
1. ความสละคืนด้วยการบริจาค
2. ความสละคืนด้วยความแล่นไป
จิตสละรูป เพราะฉะนั้น จึงเป็นความสละคืนด้วยการบริจาค จิตแล่นไปใน
นิพพานซึ่งเป็นความดับแห่งรูป เพราะฉะนั้น จึงเป็นความสละคืนด้วยความแล่นไป
ภิกษุสำเหนียกว่า “เราพิจารณาเห็นความสละคืนในรูปหายใจเข้า” สำเหนียกว่า
“เราพิจารณาเห็นความสละคืนในรูปหายใจออก” จิตสละเวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ
สังขาร ฯลฯ วิญญาณ ฯลฯ จักขุ ฯลฯ จิตสละชราและมรณะ เพราะฉะนั้น จึงเป็น
ความสละคืนด้วยการบริจาค จิตแล่นไปในนิพพานซึ่งเป็นความดับแห่งชราและมรณะ
เพราะฉะนั้น จึงเป็นความสละคืนด้วยความแล่นไป ภิกษุสำเหนียกว่า “เรา
พิจารณาเห็นความสละคืนในชราและมรณะหายใจเข้า” สำเหนียกว่า “เราพิจารณา
เห็นความสละคืนในชราและมรณะหายใจออก” ธรรมทั้งหลายด้วยอำนาจความ
เป็นผู้พิจารณาเห็นความสละคืนหายใจเข้าหายใจออก ย่อมปรากฏ ความปรากฏ
เป็นสติ การพิจารณาเห็นเป็นญาณ ธรรมย่อมปรากฏ ไม่ใช่สติ สติปรากฏด้วย
เป็นตัวระลึกด้วย ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมเหล่านั้นด้วยสตินั้น ด้วยญาณนั้น
เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า “สติปัฏฐานภาวนาคือการพิจารณาเห็นธรรมใน
ธรรมทั้งหลาย”
คำว่า พิจารณาเห็น อธิบายว่า ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมเหล่านั้นอย่างไร
คือ พิจารณาเห็นโดยความไม่เที่ยง ไม่พิจารณาเห็นโดยความเที่ยง ฯลฯ
สละคืน ไม่ยึดถือ เมื่อพิจารณาเห็นโดยความไม่เที่ยง ย่อมละนิจจสัญญาได้ ฯลฯ
เมื่อสละคืน ย่อมละอาทานะได้ พิจารณาเห็นธรรมเหล่านั้นอย่างนี้
คำว่า ภาวนา อธิบายว่า ภาวนามี 4 อย่าง คือ ฯลฯ ชื่อว่าภาวนา
เพราะมีความหมายว่าปฏิบัติเนือง ๆ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 31 หน้า :285 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [1. มหาวรรค] 3. อานาปานัสสติกถา 5. สโตการิญาณนิทเทส
ชื่อว่าสีลวิสุทธิ เพราะมีความหมายว่าเป็นผู้พิจารณาเห็นความสละคืนระวัง
ลมหายใจเข้าหายใจออก ชื่อว่าจิตตวิสุทธิ เพราะมีความหมายว่าไม่ฟุ้งซ่าน ชื่อว่า
ทิฏฐิวิสุทธิ เพราะมีความหมายว่าเห็น
บรรดาความสำรวม ความไม่ฟุ้งซ่านและความเห็นนั้น ความสำรวม ชื่อว่า
อธิสีลสิกขา ความไม่ฟุ้งซ่าน ชื่อว่าอธิจิตตสิกขา ความเห็น ชื่อว่าอธิปัญญาสิกขา
ภิกษุเมื่อคำนึงถึงสิกขา 3 นี้ ชื่อว่าศึกษา เมื่อรู้ ชื่อว่าศึกษา ฯลฯ เมื่อทำให้
แจ้งธรรมที่ควรทำให้แจ้ง ชื่อว่าศึกษา เมื่อรู้ความที่จิตเป็นเอกัคคตารมณ์ ไม่ฟุ้งซ่าน
ด้วยอำนาจความเป็นผู้พิจารณาเห็นความสละคืน หายใจเข้าหายใจออก เวทนา
ย่อมปรากฏเกิดขึ้น ปรากฏเข้าไปตั้งอยู่ ปรากฏถึงความดับไป ฯลฯ เมื่อรู้ความที่จิต
เป็นเอกัคคตารมณ์ ไม่ฟุ้งซ่านด้วยอำนาจความเป็นผู้พิจารณาเห็นความสละคืน
หายใจเข้าหายใจออก ฯลฯ ย่อมให้อินทรีย์ทั้งหลายประชุมลง รู้ชัดโคจรและรู้แจ้ง
ธรรมอันมีความสงบเป็นประโยชน์ ให้พละทั้งหลายประชุมลง ... ให้โพชฌงค์
ทั้งหลายประชุมลง ... ให้มรรคประชุมลง ... ให้ธรรมทั้งหลายประชุมลง รู้ชัดโคจร
และรู้แจ้งธรรมอันมีความสงบเป็นประโยชน์
คำว่า ให้อินทรีย์ทั้งหลายประชุมลง อธิบายว่า ภิกษุให้อินทรีย์ทั้งหลาย
ประชุมลงอย่างไร
คือ ภิกษุให้สัทธินทรีย์ประชุมลง เพราะมีสภาวะน้อมใจเชื่อ ฯลฯ เพราะเหตุนั้น
ท่านจึงกล่าวว่า “และรู้แจ้งธรรมอันมีความสงบเป็นประโยชน์” (4)
อนุปัสสนาญาณ 8 อุปัฏฐานานุสสติ 8 สุตตันติกวัตถุ 4 ในการพิจารณา
เห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย ญาณในการทำสติ 32 ประการเหล่านี้

สโตการิญาณนิทเทสที่ 5 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 31 หน้า :286 }