เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [1. มหาวรรค] 3. อานาปานัสสติกถา 4. โวทานญาณนิทเทส
หมดจดแห่งปฏิปทาที่เป็นเบื้องต้นแห่งอรหัตตมรรค มีลักษณะ 3 ประการนี้ เพราะ
เหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อรหัตตมรรคเป็นธรรมมีความงามในเบื้องต้น และถึงพร้อม
ด้วยลักษณะ
ความเพิ่มพูนอุเบกขาที่เป็นท่ามกลางแห่งอรหัตตมรรค มีลักษณะเท่าไร
คือ มีลักษณะ 3 ประการ ได้แก่
1. เพ่งเฉยจิตที่หมดจด
2. เพ่งเฉยจิตที่ดำเนินไปในสมถะ
3. เพ่งเฉยความปรากฏในสภาวะเดียว
ความเพิ่มพูนอุเบกขาที่เป็นท่ามกลางแห่งอรหัตตมรรคเพ่งเฉยจิตที่หมดจด 1
เพ่งเฉยจิตที่ดำเนินไปในสมถะ 1 เพ่งเฉยความปรากฏในสภาวะเดียว 1 เพราะเหตุนั้น
ท่านจึงกล่าวว่า อรหัตตมรรคเป็นธรรมมีความงามในท่ามกลางและถึงพร้อมด้วยลักษณะ
ความร่าเริงที่เป็นที่สุดแห่งอรหัตตมรรค มีลักษณะเท่าไร
คือ มีลักษณะ 4 ประการ ได้แก่
1. ความร่าเริงเพราะมีความหมายว่าธรรมทั้งหลายที่เกิดในอรหัตตมรรค
นั้นไม่ล่วงเลยกัน
2. ความร่าเริงเพราะมีความหมายว่าอินทรีย์ทั้งหลายมีรสเป็นอย่าง
เดียวกัน
3. ความร่าเริงเพราะมีความหมายว่านำความเพียรที่สมควรแก่ธรรมนั้น
เข้าไป
4. ความร่าเริงเพราะมีความหมายว่าปฏิบัติเนือง ๆ
ความร่าเริงที่เป็นที่สุดแห่งอรหัตตมรรค มีลักษณะ 4 ประการนี้ เพราะเหตุนั้น
ท่านจึงกล่าวว่า อรหัตตมรรคเป็นธรรมมีความงามในที่สุดและถึงพร้อมด้วยลักษณะ
จิตที่ถึงความเป็นไป 3 ประการ มีความงาม 3 ประการ ถึงพร้อมด้วย
ลักษณะ 10 ประการอย่างนี้ ย่อมเป็นจิตที่ถึงพร้อมด้วยวิตก วิจาร ปีติ สุข
การอธิษฐานจิต สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และถึงพร้อมด้วยปัญญา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 31 หน้า :247 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [1. มหาวรรค] 3. อานาปานัสสติกถา 4. โวทานญาณนิทเทส
[159] นิมิต ลมหายใจเข้าหายใจออก
ไม่เป็นอารมณ์แห่งจิตดวงเดียว
เพราะไม่รู้ธรรม 3 ประการ จึงไม่ได้ภาวนา
นิมิต ลมหายใจเข้าหายใจออก
ไม่เป็นอารมณ์แห่งจิตดวงเดียว
เพราะรู้ธรรม 3 ประการ จึงได้ภาวนา ฉะนี้แล
ธรรม 3 ประการนี้ ไม่เป็นอารมณ์แห่งจิตดวงเดียว เป็นธรรมไม่ปรากฏ
จิตไม่ถึงความฟุ้งซ่าน ประธานปรากฏ ให้ประโยคสำเร็จและบรรลุผลวิเศษ เป็น
อย่างไร
คือ เปรียบเหมือนต้นไม้ที่เขาวางไว้บนพื้นดินที่ราบเรียบ บุรุษใช้เลื่อยตัดต้นไม้นั้น
ตั้งสติไว้ที่ฟันเลื่อยที่ถูกต้นไม้ ไม่ได้ใส่ใจถึงฟันเลื่อยที่มาหรือที่ไป ฟันเลื่อยที่มาหรือ
ที่ไปจะไม่ปรากฏก็หามิได้ ประธานปรากฏ ให้ประโยคสำเร็จและบรรลุผลวิเศษ นิมิต
ที่ผูกจิตไว้ เหมือนต้นไม้ที่เขาวางไว้บนพื้นดินที่ราบเรียบ ลมหายใจเข้าหายใจออก
เหมือนฟันเลื่อย ภิกษุนั่งตั้งสติไว้มั่นที่ปลายจมูกหรือที่ริมฝีปาก ไม่ได้ใส่ใจถึงลม
หายใจเข้าหายใจออกที่เข้ามาหรือออกไป ลมหายใจเข้าหายใจออก ที่เข้ามาหรือ
ออกไปจะไม่ปรากฏก็หามิได้ ประธานปรากฏ ให้ประโยคสำเร็จและบรรลุผลวิเศษ
เหมือนบุรุษนั่งตั้งสติไว้ที่ฟันเลื่อยที่ถูกต้นไม้ ไม่ได้ใส่ใจถึงฟันเลื่อยที่มาหรือที่ไป
ฟันเลื่อยที่มาหรือที่ไปจะไม่ปรากฏก็หามิได้ ประธานปรากฏ ให้ประโยคสำเร็จและ
บรรลุผลวิเศษ ฉะนั้น
ประธาน เป็นอย่างไร
คือ กายและจิตของภิกษุผู้มีความเพียร ย่อมควรแก่การงาน นี้เป็นประธาน
ประโยค เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุผู้มีความเพียร ย่อมละอุปกิเลส1ได้ วิตกย่อมสงบไป นี้เป็นประโยค

เชิงอรรถ :
1 อุปกิเลส หมายถึงนิวรณ์ (ขุ.ป.อ. 2/159/92)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 31 หน้า :248 }