เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [1. มหาวรรค] 3. อานาปานัสสติกถา 4. โวทานญาณนิทเทส
จิตที่ถึงสภาวะเดียวด้วยฐานะ 4 นี้ ย่อมเป็นจิตที่มีปฏิปทาหมดจด
ผ่องใส เจริญงอกงามด้วยอุเบกขา และถึงความร่าเริงด้วยญาณ
อะไรเป็นเบื้องต้นแห่งปฐมฌาน อะไรเป็นท่ามกลางแห่งปฐมฌาน อะไร
เป็นที่สุดแห่งปฐมฌาน
คือ ความหมดจดแห่งปฏิปทาเป็นเบื้องต้นแห่งปฐมฌาน ความเพิ่มพูน
อุเบกขาเป็นท่ามกลางแห่งปฐมฌาน ความร่าเริงเป็นที่สุดแห่งปฐมฌาน
ความหมดจดแห่งปฏิปทาที่เป็นเบื้องต้นแห่งปฐมฌาน มีลักษณะเท่าไร
คือ มีลักษณะ 3 ประการ ได้แก่
1. จิตหมดจดจากอันตรายแห่งฌานนั้น
2. จิตดำเนินไปสู่สมถนิมิตอันเป็นท่ามกลาง เพราะเป็นจิตหมดจด
3. จิตแล่นไปในสมถนิมิตนั้น เพราะเป็นจิตดำเนินไปแล้ว
จิตหมดจดจากอันตราย 1 จิตดำเนินไปสู่สมถนิมิตอันเป็นท่ามกลาง เพราะ
เป็นจิตหมดจด 1 จิตแล่นไปในสมถนิมิตนั้น เพราะเป็นจิตดำเนินไปแล้ว 1 ความ
หมดจดแห่งปฏิปทาที่เป็นเบื้องต้นแห่งปฐมฌานมีลักษณะ 3 ประการนี้ เพราะเหตุนั้น
ท่านจึงกล่าวว่า ปฐมฌานเป็นฌานมีความงามในเบื้องต้นและถึงพร้อมด้วยลักษณะ
ความเพิ่มพูนอุเบกขาที่เป็นท่ามกลางแห่งปฐมฌาน มีลักษณะเท่าไร
คือ มีลักษณะ 3 ประการ ได้แก่
1. เพ่งเฉยจิตที่หมดจด
2. เพ่งเฉยจิตที่ดำเนินไปในสมถะ
3. เพ่งเฉยความปรากฏในสภาวะเดียว
ความเพิ่มพูนอุเบกขาที่เป็นท่ามกลางแห่งปฐมฌานเพ่งเฉยจิตที่หมดจด 1
เพ่งเฉยจิตที่ดำเนินไปในสมถะ 1 เพ่งเฉยความปรากฏในสภาวะเดียว 1 ความเพิ่ม
พูนอุเบกขาที่เป็นท่ามกลางแห่งปฐมฌาน มีลักษณะ 3 ประการนี้ เพราะเหตุนั้น
ท่านจึงกล่าวว่า ปฐมฌานเป็นฌานมีความงามในท่ามกลางและถึงพร้อมด้วยลักษณะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 31 หน้า :243 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [1. มหาวรรค] 3. อานาปานัสสติกถา 4. โวทานญาณนิทเทส
ความร่าเริงที่เป็นที่สุดแห่งปฐมฌาน มีลักษณะเท่าไร
คือ มีลักษณะ 4 ประการ ได้แก่
1. ความร่าเริงเพราะมีความหมายว่าธรรมทั้งหลายที่เกิดในปฐมฌานนั้น
ไม่ล่วงเลยกัน
2. ความร่าเริงเพราะมีความหมายว่าอินทรีย์ทั้งหลายมีรสเป็นอย่าง
เดียวกัน
3. ความร่าเริงเพราะมีความหมายว่านำความเพียรที่สมควรแก่ธรรมนั้น
เข้าไป
4. ความร่าเริงเพราะมีความหมายว่าปฏิบัติเนือง ๆ
ความร่าเริงที่เป็นที่สุดแห่งปฐมฌาน มีลักษณะ 4 ประการนี้ เพราะเหตุนั้น
ท่านจึงกล่าวว่า ปฐมฌานมีความงามในที่สุดและถึงพร้อมด้วยลักษณะ
จิตที่ถึงความเป็นไป 3 ประการ มีความงาม 3 ประการ ถึงพร้อมด้วย
ลักษณะ 10 ประการอย่างนี้ ย่อมเป็นจิตที่ถึงพร้อมด้วยวิตก วิจาร ปีติ สุข
การอธิษฐานจิต สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และถึงพร้อมด้วยปัญญา
อะไรเป็นเบื้องต้นแห่งทุติยฌาน อะไรเป็นท่ามกลางแห่งทุติยฌาน อะไรเป็น
ที่สุดแห่งทุติยฌาน
คือ ความหมดจดแห่งปฏิปทาเป็นเบื้องต้นแห่งทุติยฌาน ความเพิ่มพูนอุเบกขา
เป็นท่ามกลางแห่งทุติยฌาน ความร่าเริงเป็นที่สุดแห่งทุติยฌาน ฯลฯ
จิตที่ถึงความเป็นไป 3 ประการ มีความงาม 3 ประการ ถึงพร้อมด้วย
ลักษณะ 10 ประการอย่างนี้ ย่อมเป็นจิตที่ถึงพร้อมด้วยปีติ สุข การอธิษฐานจิต สัทธา
วิริยะ สติ สมาธิ และถึงพร้อมด้วยปัญญา
อะไรเป็นเบื้องต้นแห่งตติยฌาน อะไรเป็นท่ามกลางแห่งตติยฌาน อะไรเป็น
ที่สุดแห่งตติยฌาน ฯลฯ
จิตที่ถึงความเป็นไป 3 ประการ มีความงาม 3 ประการ ถึงพร้อมด้วย
ลักษณะ 10 ประการอย่างนี้ ย่อมเป็นจิตที่ถึงพร้อมด้วยสุข การอธิษฐานจิต
สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และถึงพร้อมด้วยปัญญา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 31 หน้า :244 }