เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [1. มหาวรรค] 3. อานาปานัสสติกถา 4. โวทานญาณนิทเทส
กายและจิตย่อมกระสับกระส่าย หวั่นไหว และดิ้นรน เพราะจิตมีความเพียรกล้า
ตกไปข้างฝ่ายอุทธัจจะ
กายและจิตย่อมกระสับกระส่าย หวั่นไหว และดิ้นรน เพราะจิตน้อมรับ ตกไป
ข้างฝ่ายกำหนัด
กายและจิตย่อมกระสับกระส่าย หวั่นไหว และดิ้นรน เพราะจิตผละออก
ตกไปข้างฝ่ายพยาบาท
ผู้ใดไม่บำเพ็ญ ไม่เจริญอานาปานสติ
กายและจิตของผู้นั้นย่อมหวั่นไหว
กายและจิตของผู้นั้นย่อมดิ้นรน
ส่วนผู้ใดบำเพ็ญ เจริญอานาปานสติดีแล้ว
กายและจิตของผู้นั้นย่อมไม่หวั่นไหว
กายและจิตของผู้นั้นย่อมไม่ดิ้นรน ฉะนี้แล
อนึ่ง เมื่อพระโยคาวจรผู้มีจิตหมดจดจากนิวรณ์เหล่านั้น เจริญสมาธิที่ประกอบ
ด้วยอานาปานสติอันมีวัตถุ 16 ความที่จิตตั้งมั่นเป็นไปเพียงชั่วขณะย่อมมีได้
อุปกิเลส 18 ประการนี้ย่อมเกิดขึ้น
อุปกิเลสญาณนิทเทสที่ 3 จบ

4. โวทานญาณนิทเทส
แสดงญาณในโวทาน
[158] ญาณในโวทาน 13 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. จิตที่แล่นไปตามอตีตารมณ์ ตกไปข้างฝ่ายฟุ้งซ่าน พระโยคาวจร
ละจิตนั้นแล้วตั้งจิตไว้มั่นในฐานหนึ่ง
2. จิตย่อมไม่ถึงความฟุ้งซ่านแม้ด้วยอาการอย่างนี้
3. จิตที่หวังอนาคตารมณ์ถึงความกวัดแกว่ง พระโยคาวจรเว้นจิตนั้น
แล้วน้อมจิตไปในฐานะนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 31 หน้า :241 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [1. มหาวรรค] 3. อานาปานัสสติกถา 4. โวทานญาณนิทเทส
4. จิตย่อมไม่ถึงความฟุ้งซ่านแม้ด้วยอาการอย่างนี้
5. จิตที่หดหู่ ตกไปข้างฝ่ายเกียจคร้าน พระโยคาวจรยกจิตนั้นไว้แล้ว
ละความเกียจคร้าน
6. จิตย่อมไม่ถึงความฟุ้งซ่านแม้ด้วยอาการอย่างนี้
7. จิตที่มีความเพียรกล้า ตกไปข้างฝ่ายอุทธัจจะ พระโยคาวจรข่มจิตนั้น
แล้วละอุทธัจจะ
8. จิตย่อมไม่ถึงความฟุ้งซ่านแม้ด้วยอาการอย่างนี้
9. จิตน้อมรับ ตกไปข้างฝ่ายกำหนัด พระโยคาวจรรู้ทันจิตนั้นแล้ว
ละความกำหนัด
10. จิตย่อมไม่ถึงความฟุ้งซ่านแม้ด้วยอาการอย่างนี้
11. จิตผละออก ตกไปข้างฝ่ายพยาบาท พระโยคาวจรรู้ทันจิตนั้นแล้วละ
พยาบาท
12. จิตย่อมไม่ถึงความฟุ้งซ่านแม้ด้วยอาการอย่างนี้
13. จิตบริสุทธิ์ผุดผ่องถึงสภาวะเดียว ด้วยฐานะ 6 ประการ1นี้
ธรรมที่มีสภาวะเดียวเหล่านั้น เป็นอย่างไร
คือ ความปรากฏแห่งการบริจาคทาน เป็นสภาวะเดียว ความปรากฏแห่ง
สมถนิมิต เป็นสภาวะเดียว ความปรากฏแห่งลักษณะความเสื่อม เป็นสภาวะเดียว
ความปรากฏแห่งความดับ เป็นสภาวะเดียว ความปรากฏแห่งการบริจาคทานของ
บุคคลผู้น้อมใจไปในจาคะทั้งหลาย เป็นสภาวะเดียว ความปรากฏแห่งสมถนิมิตของ
บุคคลผู้ประกอบในอธิจิตทั้งหลาย เป็นสภาวะเดียว ความปรากฏแห่งลักษณะความ
เสื่อมของบุคคลผู้เจริญวิปัสสนาทั้งหลาย เป็นสภาวะเดียว ความปรากฏแห่งความ
ดับของพระอริยบุคคลทั้งหลาย เป็นสภาวะเดียว

เชิงอรรถ :
1 ฐานะ 6 ประการ หมายถึงข้อที่ 1 กับข้อที่ 2 จัดเป็นฐานะที่หนึ่ง, ข้อที่ 3 กับข้อที่ 4 จัดเป็นฐานะที่สอง,
ข้อที่ 5 กับข้อที่ 6 จัดเป็นฐานะที่สาม, ข้อที่ 7 กับข้อที่ 8 จัดเป็นฐานะที่สี่, ข้อที่ 9 กับข้อที่ 10 จัดเป็น
ฐานะที่ห้า, ข้อที่ 11 กับข้อที่ 12 จัดเป็นฐานะที่หก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 31 หน้า :242 }