เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [1. มหาวรรค] 3. อานาปานัสสติกถา 1. คณนวาระ
3. อานาปานัสสติกถา
ว่าด้วยสติกำหนดลมหายใจเข้าลมหายใจออก
1. คณนวาระ
วาระว่าด้วยการนับ
[152] เมื่อพระโยคาวจรเจริญสมาธิที่ประกอบด้วยอานาปานสติอันมีวัตถุ
16 ญาณเกินกว่า 200 ย่อมเกิดขึ้น (คือ) ญาณในธรรมที่เป็นอันตราย 8 ญาณ
ในธรรมที่เป็นอุปการะ 8 ญาณในอุปกิเลส 18 ญาณในโวทาน 13 ญาณในการทำ
สติ 32 ญาณด้วยอำนาจสมาธิ 24 ญาณด้วยอำนาจวิปัสสนา 72 นิพพิทาญาณ 8
นิพพิทานุโลมญาณ 8 นิพพิทาปฏิปัสสัทธิญาณ 8 ญาณในวิมุตติสุข 21
ญาณในธรรมที่เป็นอันตราย 8 และญาณในธรรมที่เป็นอุปการะ 8 เป็น
อย่างไร คือ

กามฉันทะ เป็นอันตรายต่อสมาธิ เนกขัมมะ เป็นอุปการะแก่สมาธิ
พยาบาท เป็นอันตรายต่อสมาธิ อพยาบาท เป็นอุปการะแก่สมาธิ
ถีนมิทธะ เป็นอันตรายต่อสมาธิ อาโลกสัญญา เป็นอุปการะแก่สมาธิ
อุทธัจจะ เป็นอันตรายต่อสมาธิ อวิกเขปะ เป็นอุปการะแก่สมาธิ
วิจิกิจฉา เป็นอันตรายต่อสมาธิ ธัมมววัตถาน เป็นอุปการะแก่สมาธิ
อวิชชา เป็นอันตรายต่อสมาธิ ญาณ เป็นอุปการะแก่สมาธิ
อรติ เป็นอันตรายต่อสมาธิ ปามุชชะ เป็นอุปการะแก่สมาธิ

อกุศลธรรมทั้งปวงเป็นอันตรายต่อสมาธิ กุศลธรรมทั้งปวงเป็นอุปการะแก่สมาธิ
ญาณในธรรมที่เป็นอันตราย 8 และญาณในธรรมที่เป็นอุปการะ 8 เหล่านี้
คณนวาระที่ 1 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 31 หน้า :233 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [1. มหาวรรค] 3. อานาปานัสสติกถา 2. โสฬสญาณนิทเทส
2. โสฬสญาณนิทเทส
แสดงญาณ 16
[153] จิตที่ฟุ้งซ่านและจิตที่สงบ ย่อมดำรงอยู่ในธรรมที่มีสภาวะเดียว
และย่อมหมดจดจากนิวรณ์ด้วยอาการ 16 อย่างนี้
ธรรมที่มีสภาวะเดียวเหล่านั้น อะไรบ้าง คือ
1. เนกขัมมะ(การหลีกออกจากกาม) เป็นสภาวะเดียว
2. อพยาบาท(ความไม่คิดร้าย) เป็นสภาวะเดียว
3. อาโลกสัญญา(ความหมายรู้แสงสว่าง) เป็นสภาวะเดียว
4. อวิกเขปะ(ความไม่ฟุ้งซ่าน) เป็นสภาวะเดียว
5. ธัมมววัตถาน(การกำหนดธรรม) เป็นสภาวะเดียว
6. ญาณ(ความรู้) เป็นสภาวะเดียว
7. ปามุชชะ(ความปราโมทย์) เป็นสภาวะเดียว
8. กุศลธรรมทั้งปวง เป็นสภาวะเดียว
บทว่า นิวรณ์ อธิบายว่า นิวรณ์เหล่านั้น อะไรบ้าง คือ
1. กามฉันทะ (ความพอใจในกาม) เป็นนิวรณ์
2. พยาบาท (ความคิดร้าย) เป็นนิวรณ์
3. ถีนมิทธะ (ความหดหู่และเซื่องซึม) เป็นนิวรณ์
4. อุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านและร้อนใจ) เป็นนิวรณ์
5. วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) เป็นนิวรณ์
6. อวิชชา (ความไม่รู้แจ้ง) เป็นนิวรณ์
7. อรติ (ความไม่ยินดี) เป็นนิวรณ์
8. อกุศลธรรมทั้งปวง เป็นนิวรณ์
บทว่า นิวรณ์ อธิบายว่า ชื่อว่านิวรณ์ เพราะมีความหมายว่าอย่างไร
คือ ชื่อว่านิวรณ์ เพราะมีความหมายว่าเป็นเครื่องกั้นธรรมเครื่องนำออก
ธรรมเครื่องนำออกเหล่านั้น เป็นอย่างไร
คือ เนกขัมมะ เป็นธรรมเครื่องนำออกของพระอริยะและพระอริยะย่อมออก
ด้วยเนกขัมมะนั้น กามฉันทะ เป็นเครื่องกั้นธรรมเครื่องนำออกและบุคคลย่อมไม่รู้จัก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 31 หน้า :234 }