เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [1. มหาวรรค] 1. ญาณกถา 56-63. สัจจญาณจตุกกทวยนิทเทส
อาสวะเหล่านั้นย่อมสิ้นไป ณ ที่ไหน
คือ ทิฏฐาสวะทั้งสิ้นย่อมสิ้นไปด้วยโสดาปัตติมรรค กามาสวะซึ่งเป็นเหตุให้
สัตว์ไปสู่อบาย ภวาสวะซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์ไปสู่อบาย อวิชชาสวะซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์
ไปสู่อบาย ย่อมสิ้นไปด้วยโสดาปัตติมรรค อาสวะเหล่านี้ย่อมสิ้นไปในขณะแห่ง
โสดาปัตติมรรคนี้
กามาสวะส่วนหยาบย่อมสิ้นไปด้วยสกทาคามิมรรค ภวาสวะซึ่งตั้งอยู่ร่วมกับ
กามาสวะนั้น อวิชชาสวะซึ่งตั้งอยู่ร่วมกับกามาสวะนั้นย่อมสิ้นไปด้วยสกทาคามิมรรค
อาสวะเหล่านี้ย่อมสิ้นไปในขณะแห่งสกทาคามิมรรคนี้
กามาสวะทั้งสิ้นย่อมสิ้นไปด้วยอนาคามิมรรค ภวาสวะซึ่งตั้งอยู่ร่วมกับ
กามาสวะนั้น อวิชชาสวะซึ่งตั้งอยู่ร่วมกับกามาสวะนั้น ย่อมสิ้นไปด้วยอนาคามิมรรค
อาสวะเหล่านี้ย่อมสิ้นไปในขณะแห่งอนาคามิมรรคนี้
ภวาสวะทั้งสิ้น อวิชชาสวะทั้งสิ้นย่อมสิ้นไปด้วยอรหัตตมรรค อาสวะเหล่านี้
ย่อมสิ้นไปในขณะแห่งอรหัตตมรรคนี้
ชื่อว่าญาณ เพราะมีสภาวะรู้ธรรมนั้น ชื่อว่าปัญญา เพราะมีสภาวะรู้ชัด
เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ปัญญาที่มีความชำนาญในอินทรีย์ 3 ประการ
โดยอาการ 64 ชื่อว่าอาสวักขยญาณ
อาสวักขยญาณนิทเทสที่ 55 จบ

56-63. สัจจญาณจตุกกทวยนิทเทส
แสดงญาณในสัจจะ 4 สองหมวด
[108] ปัญญาในสภาวะที่ควรกำหนดรู้ ชื่อว่าทุกขญาณ ปัญญาใน
สภาวะที่ควรละ ชื่อว่าสมุทยญาณ ปัญญาในสภาวะที่ควรทำให้แจ้ง ชื่อว่า
นิโรธญาณ ปัญญาในสภาวะที่ควรเจริญ ชื่อว่ามัคคญาณ เป็นอย่างไร
คือ สภาวะที่บีบคั้น สภาวะที่ปัจจัยปรุงแต่ง สภาวะที่ทำให้เดือดร้อน
สภาวะที่แปรผัน สภาวะที่ควรกำหนดรู้แห่งทุกข์
สภาวะที่ประมวลมา สภาวะที่เป็นเหตุ สภาวะที่เกี่ยวข้อง สภาวะที่พัวพัน
สภาวะที่ควรละแห่งสมุทัย


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 31 หน้า :168 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [1. มหาวรรค] 1. ญาณกถา 56-63. สัจจญาณจตุกกทวยนิทเทส
สภาวะที่เป็นเครื่องสลัดออก สภาวะที่เป็นวิเวก สภาวะที่เป็นอสังขตะ สภาวะ
ที่เป็นอมตะ สภาวะที่ควรทำให้แจ้งแห่งนิโรธ
สภาวะที่นำออก สภาวะที่เป็นเหตุ สภาวะที่เห็น สภาวะที่เป็นใหญ่ สภาวะที่
ควรเจริญแห่งมรรค
ชื่อว่าญาณ เพราะมีสภาวะรู้ธรรมนั้น ชื่อว่าปัญญา เพราะมีสภาวะรู้ชัด
เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ปัญญาในสภาวะที่ควรกำหนดรู้ ชื่อว่า
ทุกขญาณ ปัญญาในสภาวะที่ควรละ ชื่อว่าสมุทยญาณ ปัญญาในสภาวะที่ควรทำ
ให้แจ้ง ชื่อว่านิโรธญาณ ปัญญาในสภาวะที่ควรเจริญ ชื่อว่ามัคคญาณ
[109] ทุกขญาณ ทุกขสมุทยญาณ ทุกขนิโรธญาณ ทุกขนิโรธคามินี-
ปฏิปทาญาณ เป็นอย่างไร
คือ ญาณของท่านผู้มีความเพียบพร้อมด้วยมรรคนี้ ชื่อว่าทุกขญาณ ทุกข-
สมุทยญาณ ทุกขนิโรธญาณ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาญาณ
ในญาณเหล่านั้น ทุกขญาณ เป็นอย่างไร
คือ ความรู้ทั่ว ความรู้ชัด การเลือกเฟ้น การค้นคว้า ความสอดส่องธรรม
การกำหนดดี การเข้าไปกำหนด การเข้าไปกำหนดเฉพาะ ความเป็นบัณฑิต ความ
เป็นผู้ฉลาด ความเป็นผู้ละเอียด ความแจ่มแจ้ง ความคิด การพิจารณา ปัญญา
กว้างขวางดุจแผ่นดิน ปัญญาที่ทำลายกิเลส ปัญญาเครื่องแนะนำ ความเห็นแจ้ง
ความรู้พร้อม ปัญญาดังประตัก ปัญญาเป็นใหญ่ ปัญญาเป็นกำลัง ปัญญาเป็น
ศัสตรา ปัญญาดังปราสาท ปัญญาเป็นแสงสว่าง ปัญญาเป็นรัศมี ปัญญาอัน
รุ่งเรือง ปัญญาดังรัตนะ ความไม่หลง การเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ ซึ่งปรารภทุกข์
เกิดขึ้น นี้ท่านกล่าวว่า ทุกขญาณ
ความรู้ทั่ว ความรู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลง การเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ
ซึ่งปรารภทุกขสมุทัยเกิดขึ้น นี้ท่านกล่าวว่า ทุกขสมุทยญาณ
ความรู้ทั่ว ความรู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลง การเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ
ซึ่งปรารภทุกขนิโรธเกิดขึ้น นี้ท่านกล่าวว่า ทุกขนิโรธญาณ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 31 หน้า :169 }