เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [1. มหาวรรค] 1. ญาณกถา 52. เจโตปริยญาณนิทเทส
52. เจโตปริยญาณนิทเทส
แสดงเจโตปริยญาณ
[104] ปัญญาในการหยั่งลงสู่วิญญาณจริยาที่มีสภาวะต่าง ๆ และสภาวะ
เดียว ด้วยอำนาจความผ่องใสแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย เพราะการแผ่ไปแห่งจิต 3
ประเภท ชื่อว่าเจโตปริยญาณ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เจริญอิทธิบาทที่ประกอบด้วยฉันทสมาธิปธานสังขาร
ฯลฯ เจริญอิทธิบาทที่ประกอบด้วยวิริยสมาธิปธานสังขาร ฯลฯ เจริญอิทธิบาทที่
ประกอบด้วยจิตตสมาธิปธานสังขาร ฯลฯ เจริญอิทธิบาทที่ประกอบด้วยวิมังสา-
สมาธิปธานสังขาร ภิกษุนั้นย่อมอบรมข่มจิต ทำให้เป็นจิตอ่อน ควรแก่การงาน
ในอิทธิบาท 4 ประการนี้ ครั้นแล้วย่อมรู้ว่า “รูปนี้เกิดขึ้นด้วยโสมนัสสินทรีย์
รูปนี้เกิดขึ้นด้วยโทมนัสสินทรีย์ รูปนี้เกิดขึ้นด้วยอุเปกขินทรีย์” เธอมีจิตอบรมแล้ว
อย่างนั้น บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ย่อมน้อมนำจิตไปเพื่อเจโตปริยญาณ เธอย่อมกำหนดรู้
ใจของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นด้วยใจของตน คือจิตมีราคะก็รู้ว่า “จิตมีราคะ” หรือจิต
ปราศจากราคะก็รู้ว่า “จิตปราศจากราคะ” จิตมีโทสะก็รู้ว่า “จิตมีโทสะ” หรือจิต
ปราศจากโทสะก็รู้ว่า “จิตปราศจากโทสะ” จิตมีโมหะก็รู้ว่า “จิตมีโมหะ” หรือจิต
ปราศจากโมหะก็รู้ว่า “จิตปราศจากโมหะ” จิตหดหู่ก็รู้ว่า “จิตหดหู่” หรือจิตฟุ้งซ่าน
ก็รู้ว่า “จิตฟุ้งซ่าน” จิตเป็นมหัคคตะก็รู้ว่า “จิตเป็นมหัคคตะ” หรือจิตไม่เป็น
มหัคคตะก็รู้ว่า “จิตไม่เป็นมหัคคตะ” จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่า “จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า”
หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่า “จิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า” จิตเป็นสมาธิก็รู้ว่า “จิตเป็น
สมาธิ” หรือจิตไม่เป็นสมาธิก็รู้ว่า “จิตไม่เป็นสมาธิ” จิตหลุดพ้นก็รู้ว่า “จิตหลุดพ้น”
หรือจิตไม่หลุดพ้นก็รู้ว่า “จิตไม่หลุดพ้น” จิตน้อมไปก็รู้ว่า “จิตน้อมไป” หรือจิตไม่
น้อมไปก็รู้ว่า “จิตไม่น้อมไป”
ชื่อว่าญาณ เพราะมีสภาวะรู้ธรรมนั้น ชื่อว่าปัญญา เพราะมีสภาวะรู้ชัด
เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ปัญญาในการหยั่งลงสู่วิญญาณจริยาที่มีสภาวะ
ต่าง ๆ และสภาวะเดียว ด้วยอำนาจความผ่องใสแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย เพราะการ
แผ่ไปแห่งจิต 3 ประเภท ชื่อว่าเจโตปริยญาณ
เจโตปริยญาณนิทเทสที่ 52 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 31 หน้า :162 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [1. มหาวรรค] 1. ญาณกถา 53. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณนิทเทส
53. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณนิทเทส
แสดงปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
[105] ปัญญาในการกำหนดธรรมทั้งหลายที่เป็นไปตามปัจจัยด้วยอำนาจ
การแผ่ไปแห่งกรรมที่มีสภาวะต่าง ๆ และสภาวะเดียว ชื่อว่าปุพเพนิวาสา-
นุสสติญาณ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เจริญอิทธิบาทที่ประกอบด้วยฉันทสมาธิปธานสังขาร
ฯลฯ เจริญอิทธิบาทที่ประกอบด้วยวิริยสมาธิปธานสังขาร ฯลฯ เจริญอิทธิบาท
ที่ประกอบด้วยจิตตสมาธิปธานสังขาร ฯลฯ เจริญอิทธิบาทที่ประกอบด้วยวิมังสา-
สมาธิปธานสังขาร ภิกษุนั้นย่อมอบรมข่มจิต ทำให้เป็นจิตอ่อน ควรแก่การงาน
ในอิทธิบาท 4 ประการนี้ ครั้นแล้วย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า “เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะ
สิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น คือ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี เพราะสังขาร
เป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี เพราะนามรูป
เป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี เพราะผัสสะเป็น
ปัจจัย เวทนาจึงมี เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี เพราะตัณหาเป็นปัจจัย
อุปาทานจึงมี เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี
เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจึงมี
ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการฉะนี้”
เธอมีจิตอบรมแล้วอย่างนี้ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ย่อมน้อมนำจิตไป เพื่อ
ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ เธอย่อมระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ 1 ชาติบ้าง
2 ชาติบ้าง 3 ชาติบ้าง 4 ชาติบ้าง 5 ชาติบ้าง 10 ชาติบ้าง 20 ชาติบ้าง
30 ชาติบ้าง 40 ชาติบ้าง 50 ชาติบ้าง 100 ชาติบ้าง 1,000 ชาติบ้าง
100,000 ชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอันมาก
บ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า “ในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น
มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุข ทุกข์และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้นจึง
มาเกิดในภพนี้ เธอระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติ
อย่างนี้”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 31 หน้า :163 }