เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [1. มหาวรรค] 1. ญาณกถา 50. อิทธิวิธญาณนิทเทส
50. อิทธิวิธญาณนิทเทส
แสดงอิทธิวิธญาณ
[101] ปัญญาในสภาวะที่สำเร็จด้วยการกำหนดกาย (ของตน) และจิต
(มีฌานเป็นบาท) เข้าด้วยกัน ด้วยอำนาจการตั้งไว้ซึ่งสุขสัญญาและลหุสัญญา
ชื่อว่าอิทธิวิธญาณ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เจริญอิทธิบาทที่ประกอบด้วยฉันทสมาธิปธานสังขาร
(สมาธิที่เกิดจากฉันทะและความเพียรสร้างสรรค์) เจริญอิทธิบาทที่ประกอบด้วย
วิริยสมาธิปธานสังขาร(สมาธิที่เกิดจากวิริยะและความเพียรสร้างสรรค์)เจริญอิทธิบาท
ที่ประกอบด้วยจิตตสมาธิปธานสังขาร (สมาธิที่เกิดจากจิตตะและความเพียรสร้างสรรค์)
เจริญอิทธิบาทที่ประกอบด้วยวิมังสาสมาธิปธานสังขาร (สมาธิที่เกิดจากวิมังสาและ
ความเพียรสร้างสรรค์) ภิกษุนั้นย่อมอบรมข่มจิตทำให้เป็นจิตอ่อน ควรแก่การงาน
ในอิทธิบาท 4 ประการนี้ ครั้นแล้วย่อมตั้งกายไว้ในจิตบ้าง ตั้งจิตไว้ในกายบ้าง น้อมจิต
ไปด้วยอำนาจกายบ้าง น้อมกายไปด้วยอำนาจจิตบ้าง อธิษฐานจิตด้วยอำนาจกาย
บ้าง อธิษฐานกายด้วยอำนาจจิตบ้าง ครั้นน้อมจิตไปด้วยอำนาจกาย น้อมกายไป
ด้วยอำนาจจิต อธิษฐานจิตด้วยอำนาจกาย อธิษฐานกายด้วยอำนาจจิตแล้ว ย่อมให้
สุขสัญญาและลหุสัญญาหยั่งลงในกายอยู่ เธอมีจิตอบรมแล้วอย่างนั้น บริสุทธิ์
ผ่องแผ้ว ย่อมน้อมนำจิตไปเพื่ออิทธิวิธญาณ เธอย่อมแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง
[102] คือ คนเดียวแสดงเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนแสดงเป็นคนเดียวก็ได้
แสดงให้ปรากฏก็ได้ หรือให้หายไปก็ได้ ทะลุฝา กำแพง ภูเขา ไปได้ไม่ติดขัด
เหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นหรือดำลงในแผ่นดินเหมือนไปในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำโดย
ที่น้ำไม่แยกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ นั่งขัดสมาธิเหาะไปในอากาศเหมือนนกบินไป
ก็ได้ ใช้ฝ่ามือลูบคลำดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์มากมีอานุภาพมากก็ได้ ใช้
อำนาจทางกายไปจนถึงพรหมโลกก็ได้
ชื่อว่าญาณ เพราะมีสภาวะรู้ธรรมนั้น ชื่อว่าปัญญา เพราะมีสภาวะรู้ชัด
เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ปัญญาในสภาวะที่สำเร็จด้วยการกำหนดกาย (ของตน)
และจิต (มีฌานเป็นบาท) เข้าด้วยกันด้วยอำนาจการตั้งไว้ซึ่งสุขสัญญาและลหุสัญญา
ชื่อว่าอิทธิวิธญาณ

อิทธิวิธญาณนิทเทสที่ 50 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 31 หน้า :160 }