เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [1. มหาวรรค] 1. ญาณกถา 44-49. ฉวิวัฏฏญาณนิทเทส
สัญญาวิวัฏ เจโตวิวัฏ จิตตวิวัฏ ญาณวิวัฏ วิโมกขวิวัฏ สัจจวิวัฏ
พระโยคาวจรเมื่อหมายรู้ย่อมหลีกไป เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าสัญญาวิวัฏ เมื่อคิด
ย่อมหลีกไป เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าเจโตวิวัฏ เมื่อรู้แจ้งย่อมหลีกไป เพราะฉะนั้น
จึงชื่อว่าจิตตวิวัฏ เมื่อกระทำญาณย่อมหลีกไป เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าญาณวิวัฏ
เมื่อสละย่อมหลีกไป เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าวิโมกขวิวัฏ ย่อมหลีกไปในสภาวะแท้
เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าสัจจวิวัฏ
ในขณะแห่งมรรคใดมีสัญญาวิวัฏ ในขณะแห่งมรรคนั้นย่อมมีเจโตวิวัฏ ในขณะ
แห่งมรรคใดมีเจโตวิวัฏ ในขณะแห่งมรรคนั้นย่อมมีสัญญาวิวัฏ ในขณะแห่งมรรคใด
มีสัญญาวิวัฏ เจโตวิวัฏ ในขณะแห่งมรรคนั้นย่อมมีจิตตวิวัฏ ในขณะแห่งมรรคใด
มีจิตตวิวัฏ ในขณะแห่งมรรคนั้นย่อมมีสัญญาวิวัฏ เจโตวิวัฏ ในขณะแห่งมรรคใด
มีสัญญาวิวัฏ เจโตวิวัฏ จิตตวิวัฏ ในขณะแห่งมรรคนั้นย่อมมีญาณวิวัฏ ในขณะ
แห่งมรรคใดมีญาณวิวัฏ ในขณะแห่งมรรคนั้นย่อมมีสัญญาวิวัฏ เจโตวิวัฏ จิตตวิวัฏ
ในขณะแห่งมรรคใดมีสัญญาวิวัฏ เจโตวิวัฏ จิตตวิวัฏ ญาณวิวัฏ ในขณะแห่ง
มรรคนั้นย่อมมีวิโมกขวิวัฏ ในขณะแห่งมรรคใดมีวิโมกขวิวัฏ ในขณะแห่งมรรคนั้น
ย่อมมีสัญญาวิวัฏ เจโตวิวัฏ จิตตวิวัฏ ญาณวิวัฏ ในขณะแห่งมรรคใดมีสัญญา-
วิวัฏ เจโตวิวัฏ จิตตวิวัฏ ญาณวิวัฏ วิโมกขวิวัฏ ในขณะแห่งมรรคนั้นย่อมมี
สัจจวิวัฏ ในขณะแห่งมรรคใดมีสัจจวิวัฏ ในขณะแห่งมรรคนั้นย่อมมีสัญญาวิวัฏ
เจโตวิวัฏ จิตตวิวัฏ ญาณวิวัฏ วิโมกขวิวัฏ
ชื่อว่าญาณ เพราะมีสภาวะรู้ธรรมนั้น ชื่อว่าปัญญา เพราะมีสภาวะรู้ชัด
เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ปัญญาในสภาวะแท้ ชื่อว่าสัจจวิวัฏฏญาณ

ฉวิวัฏฏญาณนิทเทสที่ 44-49 จบ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 31 หน้า :159 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [1. มหาวรรค] 1. ญาณกถา 50. อิทธิวิธญาณนิทเทส
50. อิทธิวิธญาณนิทเทส
แสดงอิทธิวิธญาณ
[101] ปัญญาในสภาวะที่สำเร็จด้วยการกำหนดกาย (ของตน) และจิต
(มีฌานเป็นบาท) เข้าด้วยกัน ด้วยอำนาจการตั้งไว้ซึ่งสุขสัญญาและลหุสัญญา
ชื่อว่าอิทธิวิธญาณ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เจริญอิทธิบาทที่ประกอบด้วยฉันทสมาธิปธานสังขาร
(สมาธิที่เกิดจากฉันทะและความเพียรสร้างสรรค์) เจริญอิทธิบาทที่ประกอบด้วย
วิริยสมาธิปธานสังขาร(สมาธิที่เกิดจากวิริยะและความเพียรสร้างสรรค์)เจริญอิทธิบาท
ที่ประกอบด้วยจิตตสมาธิปธานสังขาร (สมาธิที่เกิดจากจิตตะและความเพียรสร้างสรรค์)
เจริญอิทธิบาทที่ประกอบด้วยวิมังสาสมาธิปธานสังขาร (สมาธิที่เกิดจากวิมังสาและ
ความเพียรสร้างสรรค์) ภิกษุนั้นย่อมอบรมข่มจิตทำให้เป็นจิตอ่อน ควรแก่การงาน
ในอิทธิบาท 4 ประการนี้ ครั้นแล้วย่อมตั้งกายไว้ในจิตบ้าง ตั้งจิตไว้ในกายบ้าง น้อมจิต
ไปด้วยอำนาจกายบ้าง น้อมกายไปด้วยอำนาจจิตบ้าง อธิษฐานจิตด้วยอำนาจกาย
บ้าง อธิษฐานกายด้วยอำนาจจิตบ้าง ครั้นน้อมจิตไปด้วยอำนาจกาย น้อมกายไป
ด้วยอำนาจจิต อธิษฐานจิตด้วยอำนาจกาย อธิษฐานกายด้วยอำนาจจิตแล้ว ย่อมให้
สุขสัญญาและลหุสัญญาหยั่งลงในกายอยู่ เธอมีจิตอบรมแล้วอย่างนั้น บริสุทธิ์
ผ่องแผ้ว ย่อมน้อมนำจิตไปเพื่ออิทธิวิธญาณ เธอย่อมแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง
[102] คือ คนเดียวแสดงเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนแสดงเป็นคนเดียวก็ได้
แสดงให้ปรากฏก็ได้ หรือให้หายไปก็ได้ ทะลุฝา กำแพง ภูเขา ไปได้ไม่ติดขัด
เหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นหรือดำลงในแผ่นดินเหมือนไปในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำโดย
ที่น้ำไม่แยกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ นั่งขัดสมาธิเหาะไปในอากาศเหมือนนกบินไป
ก็ได้ ใช้ฝ่ามือลูบคลำดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์มากมีอานุภาพมากก็ได้ ใช้
อำนาจทางกายไปจนถึงพรหมโลกก็ได้
ชื่อว่าญาณ เพราะมีสภาวะรู้ธรรมนั้น ชื่อว่าปัญญา เพราะมีสภาวะรู้ชัด
เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ปัญญาในสภาวะที่สำเร็จด้วยการกำหนดกาย (ของตน)
และจิต (มีฌานเป็นบาท) เข้าด้วยกันด้วยอำนาจการตั้งไว้ซึ่งสุขสัญญาและลหุสัญญา
ชื่อว่าอิทธิวิธญาณ

อิทธิวิธญาณนิทเทสที่ 50 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 31 หน้า :160 }