เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [1. มหาวรรค] 1. ญาณกถา 42. ปริโยคาหนญาณนิทเทส
41. ขันติญาณนิทเทส
แสดงขันติญาณ
[92] ปัญญาที่รู้ชัด ชื่อว่าขันติญาณ เป็นอย่างไร
คือ รูปที่รู้ชัดโดยความไม่เที่ยง รูปที่รู้ชัดโดยความเป็นทุกข์ รูปที่รู้ชัดโดยความ
เป็นอนัตตา รูปใด ๆ ที่พระโยคาวจรรู้ชัดแล้ว รูปนั้น ๆ พระโยคาวจรย่อมพอใจ
เพราะฉะนั้น ปัญญาที่รู้ชัด จึงชื่อว่าขันติญาณ
เวทนาที่รู้ชัดโดยความไม่เที่ยง ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ วิญญาณ ฯลฯ
จักขุที่รู้ชัดโดยความไม่เที่ยง ฯลฯ ชราและมรณะที่รู้ชัดโดยความไม่เที่ยง
ชราและมรณะที่รู้ชัดโดยความเป็นทุกข์ ชราและมรณะที่รู้ชัดโดยความเป็นอนัตตา
ชราและมรณะใด ๆ ที่พระโยคาวจรรู้ชัดแล้ว ชราและมรณะนั้น ๆ พระโยคาวจร
ย่อมพอใจ เพราะฉะนั้น ปัญญาที่รู้ชัด จึงชื่อว่าขันติญาณ
ชื่อว่าญาณ เพราะมีสภาวะรู้ธรรมนั้น ชื่อว่าปัญญา เพราะมีสภาวะรู้ชัด
เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ปัญญาที่รู้ชัด ชื่อว่าขันติญาณ
ขันติญาณนิทเทสที่ 41 จบ

42. ปริโยคาหนญาณนิทเทส
แสดงปริโยคาหนญาณ
[93] ปัญญาที่ถูกต้องธรรม ชื่อว่าปริโยคาหนญาณ เป็นอย่างไร
คือ ปัญญาย่อมถูกต้องรูปโดยความไม่เที่ยง ถูกต้องรูปโดยความเป็นทุกข์
ถูกต้องรูปโดยความเป็นอนัตตา ถูกต้องรูปใด ๆ ก็หยั่งลงสู่รูปนั้น ๆ เพราะฉะนั้น
ปัญญาที่ถูกต้องธรรม จึงชื่อว่าปริโยคาหนญาณ
ปัญญาย่อมถูกต้องเวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ วิญญาณ ฯลฯ
ปัญญาย่อมถูกต้องจักขุ ฯลฯ ปัญญาย่อมถูกต้องชราและมรณะโดยความ
ไม่เที่ยง ถูกต้องชราและมรณะโดยความเป็นทุกข์ ถูกต้องชราและมรณะโดยความ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 31 หน้า :153 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [1. มหาวรรค] 1. ญาณกถา 43. ปเทสวิหารญาณนิทเทส
เป็นอนัตตา ถูกต้องชราและมรณะใด ๆ ก็หยั่งลงสู่ชราและมรณะนั้น ๆ เพราะฉะนั้น
ปัญญาที่ถูกต้องธรรม จึงชื่อว่าปริโยคาหนญาณ
ชื่อว่าญาณ เพราะมีสภาวะรู้ธรรมนั้น ชื่อว่าปัญญา เพราะมีสภาวะรู้ชัด
เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ปัญญาที่ถูกต้องธรรม ชื่อว่าปริโยคาหนญาณ
ปริโยคาหนญาณนิทเทสที่ 42 จบ

43. ปเทสวิหารญาณนิทเทส
แสดงปเทสวิหารญาณ

[94] ปัญญาในการรวมปัจจัย ชื่อว่าปเทสวิหารญาณ เป็นอย่างไร คือ
เพราะมิจฉาทิฏฐิเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
เพราะความสงบไปแห่งมิจฉาทิฏฐิเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
เพราะสัมมาทิฏฐิเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
เพราะความสงบไปแห่งสัมมาทิฏฐิเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
เพราะมิจฉาสังกัปปะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
เพราะความสงบไปแห่งมิจฉาสังกัปปะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
เพราะสัมมาสังกัปปะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
เพราะความสงบไปแห่งสัมมาสังกัปปะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี

ฯลฯ

เพราะมิจฉาวิมุตติเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
เพราะความสงบไปแห่งมิจฉาวิมุตติเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
เพราะสัมมาวิมุตติเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
เพราะความสงบไปแห่งสัมมาวิมุตติเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
เพราะฉันทะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
เพราะความสงบไปแห่งฉันทะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
เพราะวิตกเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 31 หน้า :154 }