เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [1. มหาวรรค] 1. ญาณกถา 17. จริยานานัตตญาณนิทเทส
เมื่อกำหนดโดยความไม่เที่ยง ย่อมละนิจจสัญญาได้ เมื่อกำหนดโดยความเป็น
ทุกข์ ย่อมละสุขสัญญาได้ เมื่อกำหนดโดยความเป็นอนัตตา ย่อมละอัตตสัญญาได้
เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมละนันทิได้ เมื่อคลายกำหนัด ย่อมละราคะได้ เมื่อทำราคะให้ดับ
ย่อมละสมุทัยได้ เมื่อสละคืน ย่อมละอาทานะได้ พระโยคาวจรกำหนดธรรมารมณ์
ที่เป็นภายนอกอย่างนี้
ชื่อว่าญาณ เพราะมีสภาวะรู้ธรรมนั้น ชื่อว่าปัญญา เพราะมีสภาวะรู้ชัด
เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ปัญญาในการกำหนดธรรมต่าง ๆ ที่เป็นภายนอก
ชื่อว่าโคจรนานัตตญาณ
โคจรนานัตตญาณนิทเทสที่ 16 จบ

17. จริยานานัตตญาณนิทเทส
แสดงจริยานานัตตญาณ
[68] ปัญญาในการกำหนดจริยา ชื่อว่าจริยานานัตตญาณ เป็นอย่างไร
คือ คำว่า จริยา อธิบายว่า จริยา 3 อย่าง ได้แก่
1. วิญญาณจริยา
2. อัญญาณจริยา
3. ญาณจริยา
วิญญาณจริยา เป็นอย่างไร
คือ ความคิดเพื่อดูรูปทั้งหลายอันเป็นเพียงกิริยาอัพยากฤต ชื่อว่าวิญญาณ-
จริยา จักขุวิญญาณที่เป็นแต่เพียงเห็นรูป ชื่อว่าวิญญาณจริยา มโนธาตุอันเป็นวิบาก
ที่ขึ้นสู่อารมณ์ ชื่อว่าวิญญาณจริยา เพราะได้เห็นรูปแล้ว มโนวิญญาณธาตุอัน
เป็นวิบาก ชื่อว่าวิญญาณจริยา เพราะขึ้นสู่รูปแล้ว
ความคิดเพื่อฟังเสียงอันเป็นเพียงกิริยาอัพยากฤต ชื่อว่าวิญญาณจริยา
โสตวิญญาณที่เป็นแต่เพียงฟังเสียง ชื่อว่าวิญญาณจริยา มโนธาตุอันเป็นวิบากที่ขึ้น
สู่อารมณ์ ชื่อว่าวิญญาณจริยา เพราะได้ฟังเสียงแล้ว มโนวิญญาณธาตุอันเป็น
วิบาก ชื่อว่าวิญญาณจริยา เพราะขึ้นสู่เสียงแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 31 หน้า :114 }