เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [1. มหาวรรค] 1. ญาณกถา 15. วัตถุนานัตตญาณนิทเทส
ในขณะแห่งอรหัตตมรรค ญาณที่ชื่อว่าสัมมาทิฏฐิ เพราะมีสภาวะเห็น
มาร่วมกันในขณะนั้น ฯลฯ ญาณที่ชื่อว่าญาณในความสิ้นไป เพราะมีสภาวะตัดขาด
มาร่วมกันในขณะนั้น ญาณที่ชื่อว่าฉันทะ เพราะมีสภาวะเป็นมูล มาร่วมกันใน
ขณะนั้น ฯลฯ ญาณที่ชื่อว่าธรรมที่หยั่งลงสู่อมตะคือนิพพาน เพราะมีสภาวะเป็น
ที่สุด มาร่วมกันในขณะนั้น พระโยคาวจรออก (จากสมาบัติ) แล้วพิจารณาว่า ธรรม
เหล่านี้มาร่วมกันในขณะนั้น
ในขณะแห่งอรหัตตผล ญาณที่ชื่อว่าสัมมาทิฏฐิ เพราะมีสภาวะเห็น มาร่วมกัน
ในขณะนั้น ฯลฯ ญาณที่ชื่อว่าอนุปปาทญาณ เพราะมีสภาวะระงับ มาร่วมกันใน
ขณะนั้น ญาณที่ชื่อว่าฉันทะ เพราะมีสภาวะเป็นมูล มาร่วมกันในขณะนั้น ฯลฯ
ญาณที่ชื่อว่าธรรมที่หยั่งลงสู่อมตะคือนิพพาน เพราะมีสภาวะเป็นที่สุด มาร่วมกันใน
ขณะนั้น พระโยคาวจรออก (จากสมาบัติ) แล้วพิจารณาว่า ธรรมเหล่านี้มาร่วมกัน
ในขณะนั้น
ชื่อว่าญาณ เพราะมีสภาวะรู้ธรรมนั้น ชื่อว่าปัญญา เพราะมีสภาวะรู้ชัด
เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ปัญญาในการพิจารณาธรรมที่เข้ามาประชุมกันใน
ขณะนั้น ชื่อว่าปัจจเวกขณญาณ
ปัจจเวกขณญาณนิทเทสที่ 14 จบ

15. วัตถุนานัตตญาณนิทเทส
แสดงญาณในวัตถุต่าง ๆ1
[66] ปัญญาในการกำหนดธรรมต่าง ๆ ที่เป็นภายใน ชื่อว่าวัตถุนานัตต-
ญาณ (ญาณในวัตถุต่าง ๆ) เป็นอย่างไร พระโยคาวจรกำหนดธรรมทั้งหลายที่
เป็นภายใน อย่างไร
คือ พระโยคาวจรกำหนดจักขุที่เป็นภายใน กำหนดโสตะที่เป็นภายใน กำหนด
ฆานะที่เป็นภายใน กำหนดชิวหาที่เป็นภายใน กำหนดกายที่เป็นภายใน กำหนด
มโนที่เป็นภายใน

เชิงอรรถ :
1 วัตถุต่าง ๆ ในที่นี้หมายถึงที่ตั้งที่เกิดแห่งอารมณ์ ได้แก่ อายตนะภายใน 6 เป็นที่ตั้งที่เกิดแห่งอารมณ์
(ขุ.ป.อ. 1/67/77)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 31 หน้า :109 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [1. มหาวรรค] 1. ญาณกถา 15. วัตถุนานัตตญาณนิทเทส
พระโยคาวจรกำหนดจักขุที่เป็นภายใน อย่างไร
คือ กำหนดว่า “จักขุเกิดเพราะอวิชชา” กำหนดว่า “จักขุเกิดเพราะตัณหา”
กำหนดว่า “จักขุเกิดเพราะกรรม” กำหนดว่า “จักขุเกิดเพราะอาหาร” กำหนดว่า
“จักขุเกิดเพราะอาศัยมหาภูตรูป 4” กำหนดว่า “จักขุเกิดแล้ว” กำหนดว่า “จักขุ
มาร่วมกันแล้ว” กำหนดว่า “จักขุไม่มีแล้วเกิดมี มีแล้วจักไม่มี”
กำหนดจักขุโดยความเป็นของมีที่สุด คือกำหนดว่า “จักขุไม่ยั่งยืน ไม่เที่ยง
มีความแปรผันไปเป็นธรรมดา” กำหนดว่า “จักขุไม่เที่ยง ถูกปัจจัยปรุงแต่ง อาศัย
ปัจจัยเกิดขึ้น มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา เสื่อมไปเป็นธรรมดา คลายไปเป็นธรรมดา
ดับไปเป็นธรรมดา”
กำหนดจักขุโดยความไม่เที่ยง ไม่กำหนดโดยความเที่ยง กำหนดโดยความเป็น
ทุกข์ ไม่กำหนดโดยความเป็นสุข กำหนดโดยความเป็นอนัตตา ไม่กำหนดโดยความ
เป็นอัตตา ย่อมเบื่อหน่าย ไม่ยินดี ย่อมคลายกำหนัด ไม่กำหนัด ย่อมทำราคะให้ดับ
ไม่ให้เกิดขึ้น ย่อมสละคืน ไม่ยึดถือ
เมื่อกำหนดโดยความไม่เที่ยง ย่อมละนิจจสัญญา (ความหมายรู้ว่าเที่ยง)ได้
เมื่อกำหนดโดยความเป็นทุกข์ ย่อมละสุขสัญญา(ความหมายรู้ว่าเป็นสุข)ได้ เมื่อ
กำหนดโดยความเป็นอนัตตา ย่อมละอัตตสัญญา(ความหมายรู้ว่าอัตตา)ได้ เมื่อเบื่อ
หน่าย ย่อมละนันทิ (ความยินดี) ได้ เมื่อคลายกำหนัดย่อมละราคะได้ เมื่อทำราคะ
(ความกำหนัด) ให้ดับ ย่อมละสมุทัย (เหตุเกิด) ได้ เมื่อสละคืน ย่อมละอาทานะ
(ความยึดถือ) ได้ พระโยคาวจรกำหนดจักขุที่เป็นภายในอย่างนี้
พระโยคาวจรกำหนดโสตะที่เป็นภายใน อย่างไร
คือ กำหนดว่า “โสตะเกิดเพราะอวิชชา” ฯลฯ พระโยคาวจรกำหนดโสตะที่
เป็นภายในอย่างนี้
พระโยคาวจรกำหนดฆานะที่เป็นภายใน อย่างไร
คือ กำหนดว่า “ฆานะเกิดเพราะอวิชชา” ฯลฯ พระโยคาวจรกำหนดฆานะที่
เป็นภายในอย่างนี้


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 31 หน้า :110 }