เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [1. มหาวรรค] 1. ญาณกถา 11. มัคคญาณนิทเทส
ญาณที่ชื่อว่าสัมมาวายามะ เพราะมีสภาวะประคองไว้ ย่อมออกจากมิจฉา-
วายามะ ออกจากเหล่ากิเลสที่เป็นไปตามมิจฉาวายามะนั้น จากขันธ์ทั้งหลาย และ
ออกจากสรรพนิมิตภายนอก เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ปัญญาในการออก
และหลีกไปทั้งจากกิเลสขันธ์และจากนิมิตภายนอก ชื่อว่ามัคคญาณ
ญาณที่ชื่อว่าสัมมาสติ เพราะมีสภาวะตั้งมั่น ย่อมออกจากมิจฉาสติ ออกจาก
เหล่ากิเลสที่เป็นไปตามมิจฉาสตินั้น จากขันธ์ทั้งหลาย และออกจากสรรพนิมิตภาย
นอก เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ปัญญาในการออกและหลีกไปทั้งจากกิเลสขันธ์
และจากนิมิตภายนอก ชื่อว่ามัคคญาณ
ญาณที่ชื่อว่าสัมมาสมาธิ เพราะมีสภาวะไม่ฟุ้งซ่าน ย่อมออกจากมิจฉาสมาธิ
ออกจากเหล่ากิเลสที่เป็นไปตามมิจฉาสมาธินั้น จากขันธ์ทั้งหลาย และออกจาก
สรรพนิมิตภายนอก เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ปัญญาในการออกและหลีกไป
ทั้งจากกิเลสขันธ์และจากนิมิตภายนอก ชื่อว่ามัคคญาณ
ในขณะแห่งสกทาคามิมรรค ญาณที่ชื่อว่าสัมมาทิฏฐิ เพราะมีสภาวะเห็น ฯลฯ
ญาณที่ชื่อว่าสัมมาสมาธิ เพราะมีสภาวะไม่ฟุ้งซ่าน ย่อมออกจากกามราคสังโยชน์
(กิเลสเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในภพคือกามราคะ) จากปฏิฆสังโยชน์ (กิเลสเครื่อง
ประกอบสัตว์ไว้ในภพคือปฏิฆะ) จากกามราคานุสัย (กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน
คือกามราคะ) จากปฏิฆานุสัย (กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดานคือปฏิฆะ) ส่วนหยาบ ๆ
ออกจากเหล่ากิเลสที่เป็นไปตามมิจฉาสมาธินั้น จากขันธ์ทั้งหลาย และออกจาก
สรรพนิมิตภายนอก เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ปัญญาในการออกและหลีก
ไปทั้งจากกิเลสขันธ์ และจากนิมิตภายนอก ชื่อว่ามัคคญาณ
ในขณะแห่งอนาคามิมรรค ญาณที่ชื่อว่าสัมมาทิฏฐิ เพราะมีสภาวะเห็น ฯลฯ
ญาณที่ชื่อว่าสัมมาสมาธิ เพราะมีสภาวะไม่ฟุ้งซ่าน ย่อมออกจากกามราคสังโยชน์
จากปฏิฆสังโยชน์ จากกามราคานุสัย จากปฏิฆานุสัย ส่วนละเอียด ๆ ออกจาก
เหล่ากิเลสที่เป็นไปตามมิจฉาสมาธินั้น จากขันธ์ทั้งหลาย และออกจากสรรพนิมิต
ภายนอก เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ปัญญาในการออกและหลีกไปทั้งจาก
กิเลสขันธ์และจากนิมิตภายนอก ชื่อว่ามัคคญาณ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 31 หน้า :100 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [1. มหาวรรค] 1. ญาณกถา 11. มัคคญาณนิทเทส
ในขณะแห่งอรหัตตมรรค ญาณที่ชื่อว่าสัมมาทิฏฐิ เพราะมีสภาวะเห็น ฯลฯ
ญาณที่ชื่อว่าสัมมาสมาธิ เพราะมีสภาวะไม่ฟุ้งซ่าน ย่อมออกจากรูปราคะ (ความ
กำหนัดในรูป) จากอรูปราคะ (ความกำหนัดในอรูป) จากมานะ (ความถือตัว) จาก
อุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่าน) จากอวิชชา (ความไม่รู้) จากมานานุสัย (กิเลสที่นอนเนื่อง
อยู่ในสันดานคือมานะ) จากภวราคานุสัย (กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดานคือภวราคะ)
จากอวิชชานุสัย (กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดานคืออวิชชา) ออกจากเหล่ากิเลสที่
เป็นไปตามมิจฉาสมาธินั้น จากขันธ์ทั้งหลาย และออกจากสรรพนิมิตภายนอก
เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่าปัญญาในการออกและหลีกไปทั้งจากกิเลสขันธ์และ
จากนิมิตภายนอก ชื่อว่ามัคคญาณ
[62] บุคคลผู้พร้อมเพรียงด้วยอริยมรรค
ย่อมเผากิเลสที่ยังไม่เกิด
ด้วยโลกุตตรฌานที่เกิดขึ้นแล้ว
เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวโลกุตตระว่าเป็นฌาน
บุคคลนั้นย่อมไม่หวั่นไหวเพราะทิฏฐิต่าง ๆ
เพราะเป็นผู้ฉลาดในฌานและวิโมกข์
พระโยคาวจรตั้งจิตมั่นแล้วย่อมเห็นแจ้งฉันใด
เมื่อเห็นแจ้งก็พึงตั้งจิตมั่นฉันนั้น
ทั้งสมถะและวิปัสสนาได้เกิดขึ้นในขณะนั้น
มีส่วนเสมอกันดำเนินไปคู่กัน
ความเห็นว่าสังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ นิโรธ1เป็นสุข
ปัญญาที่ออกจากธรรมทั้งสองย่อมถูกต้องอมตบท2

เชิงอรรถ :
1 นิโรธ ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (ขุ.ป.อ. 1/63/300)
2 อมตบท ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (ขุ.ป.อ. 1/63/300)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 31 หน้า :101 }