เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 3. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า จึงพากันบูชายัญ อธิบายว่า คนแม้เหล่าใดแสวงหา ค้นหา เสาะหา
ยัญ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ข้าว น้ำ ผ้า ยาน
พวงดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก เครื่องประทีป คนแม้เหล่านั้น
ชื่อว่าบูชายัญ
คนแม้เหล่าใด ให้ สละ บริจาคจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัย
เภสัชบริขาร ข้าว น้ำ ผ้า ยาน พวงดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก
เครื่องประทีป คนแม้เหล่านั้น ชื่อว่าบูชายัญ
คำว่า จำนวนมาก อธิบายว่า ยัญเหล่านี้มาก ผู้บูชายัญก็มาก ผู้ควรแก่
ทักษิณานั้นก็มาก
ยัญเหล่านั้นมาก อย่างไร
ยัญเหล่านี้ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ข้าว น้ำ
ผ้า ยาน พวงดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก เครื่องประทีป มี
มากแก่ชนจำนวนมาก ยัญเหล่านั้น ชื่อว่ามาก อย่างนี้บ้าง
ผู้บูชายัญนั้นมาก คือ กษัตริย์ก็มาก พราหมณ์ก็มาก แพศย์ก็มาก ศูทรก็มาก
คฤหัสถ์ก็มาก บรรพชิตก็มาก เทวดาและมนุษย์ก็มาก ผู้บูชายัญมาก อย่างนี้บ้าง
บุคคลผู้ควรทักษิณาเหล่านั้นมาก อย่างไร
คือ บุคคลผู้ควรทักษิณาเหล่านั้น มีมากมาย คือ สมณะก็มาก พราหมณ์
ก็มาก คนกำพร้าก็มาก คนเดินทางก็มาก วณิพกก็มาก และยาจกก็มาก บุคคล
ผู้ควรทักษิณาเหล่านั้น ชื่อว่ามาก อย่างนี้บ้าง
คำว่า ในโลกนี้ คือ ในมนุษยโลก รวมความว่า จำนวนมากในโลกนี้ ...
จึงพากันบูชายัญ

ว่าด้วยการถาม 3
คำว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น ขอพระองค์
โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด อธิบายว่า


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :88 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 3. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ขอทูลถาม ได้แก่ การถาม 3 อย่าง คือ
1. การถามเพื่อทำให้ชัดเจนในสิ่งที่ยังไม่เคยเห็น
2. การถามเพื่อเทียบเคียงในสิ่งที่เคยเห็นแล้ว
3. การถามเพื่อตัดความสงสัย
การถามเพื่อทำให้ชัดเจนในสิ่งที่ยังไม่เคยเห็น เป็นอย่างไร
คือ โดยปกติลักษณะใด ตนยังไม่รู้ ยังไม่เห็น ยังมิได้เทียบเคียง ยังมิได้
พิจารณา ยังมิได้ทำให้กระจ่าง ยังมิได้ทำให้แจ่มแจ้ง ก็ถามปัญหาเพื่อรู้ เพื่อเห็น
เพื่อเทียบเคียง เพื่อพิจารณา เพื่อทำให้ลักษณะนั้นแจ่มแจ้ง นี้ชื่อว่าการถามเพื่อ
ทำให้ชัดเจนในสิ่งที่ยังไม่เคยเห็น
การถามเพื่อเทียบเคียงในสิ่งที่เคยเห็นแล้ว เป็นอย่างไร
คือ โดยปกติลักษณะใด ตนรู้ เห็น เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง
ทำให้แจ่มแจ้งแล้ว ก็ถามปัญหา เพื่อเทียบเคียงลักษณะนั้นกับบัณฑิตอื่น นี้ชื่อว่า
การถามเพื่อเทียบเคียงในสิ่งที่เคยเห็นแล้ว
การถามเพื่อตัดความสงสัย เป็นอย่างไร
คือ โดยปกติบุคคลเป็นผู้แล่นไปสู่ความสงสัย แล่นไปสู่ความเคลือบแคลง
เกิดความคิดเป็นสองแง่ว่า “เป็นอย่างนี้หรือไม่หนอ เป็นอะไรหรือ เป็นอย่างไรหนอ”
เขาก็ถามปัญหา เพื่อตัดความสงสัย นี้ชื่อว่าการถามเพื่อตัดความสงสัย เหล่านี้
ชื่อว่าการถาม 3 อย่าง
การถามอีก 3 อย่าง คือ
1. การถามของมนุษย์ 2. การถามของอมนุษย์
3. การถามของรูปเนรมิต
การถามของมนุษย์ เป็นอย่างไร
คือ พวกมนุษย์เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าแล้วทูลถามปัญหา คือ พวก
ภิกษุก็ทูลถาม ภิกษุณีก็ทูลถาม อุบาสกก็ทูลถาม อุบาสิกาก็ทูลถาม พระราชาก็
ทูลถาม กษัตริย์ก็ทูลถาม พราหมณ์ก็ทูลถาม แพศย์ก็ทูลถาม ศูทรก็ทูลถาม
คฤหัสถ์ก็ทูลถาม บรรพชิตก็ทูลถาม นี้ชื่อว่าการถามของมนุษย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :89 }