เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 3. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าผู้มีปกติเห็นมูล ทรงเห็นเหตุ ทรงเห็นต้นเหตุ ทรง
เห็นการเกิดขึ้น ทรงเห็นแดนเกิด ทรงเห็นสมุฏฐาน ทรงเห็นอาหาร ทรงเห็นอารมณ์
ทรงเห็นปัจจัย ทรงเห็นเหตุเกิด อย่างนี้บ้าง รวมความว่า พระองค์ผู้ไม่มีตัณหา
เหตุให้หวั่นไหว ผู้มีปกติเห็นมูล
คำว่า ดังนี้ ในคำว่า ท่านปุณณกะทูลถาม ดังนี้ เป็นบทสนธิ ฯลฯ1
รวมความว่า ท่านปุณณกะทูลถาม ดังนี้
คำว่า ข้าพระองค์มีปัญหาจะทูลถาม จึงมาเฝ้า อธิบายว่า ข้าพระองค์มี
ความต้องการด้วยปัญหา จึงมาเฝ้า คือ ข้าพระองค์ต้องการถามปัญหา จึงมาเฝ้า
ข้าพระองค์ต้องการฟังปัญหา จึงมาเฝ้า รวมความว่า ข้าพระองค์มีปัญหาจะทูลถาม
จึงมาเฝ้า
อีกนัยหนึ่ง ข้าพระองค์ต้องการปัญหา คือ ต้องการถามปัญหา ต้องการ
ฟังปัญหา จึงมาเฝ้า คือ เข้ามา เข้ามาเฝ้า เข้ามานั่งเฝ้า รวมความว่า ข้าพระ
องค์มีปัญหาจะทูลถาม จึงมาเฝ้า อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง พระองค์ทรงมีความต้องการปัญหาจึงเสด็จมา คือ แม้พระองค์
ก็ทรงเป็นผู้องอาจ ทรงสามารถ ทรงสมควรเพื่อตรัส วิสัชนา ชี้แจง ทรงกล่าว
ถึงปัญหาที่ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว อธิบายว่า ขอพระองค์ ทรงภาระนี้ รวมความว่า
ข้าพระองค์มีปัญหาจะทูลถาม จึงมาเฝ้า อย่างนี้บ้าง
คำว่า อาศัยอะไร ในคำว่า ฤๅษี มนุชะ ... อาศัยอะไร อธิบายว่า อาศัย
คือ หวัง เยื่อใย เข้าใกล้ พัวพัน น้อมใจเชื่ออะไร
คำว่า ฤๅษี อธิบายว่า คนพวกใดพวกหนึ่งที่บวชเป็นฤๅษี ได้แก่ อาชีวก
นิครนถ์ ชฎิล ดาบส เรียกชื่อว่าฤๅษี
พวกมนุษย์ตรัสเรียกว่า มนุชะ2 รวมความว่า ฤๅษี มนุชะ ... อาศัยอะไร

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 9/73
2 มนุชะ คือผู้ที่เกิดจากพระมนู (ขุ.ม.อ. 1/26)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :86 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 3. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า กษัตริย์ ในคำว่า กษัตริย์ พราหมณ์ ... แก่เทวดาทั้งหลาย ได้แก่
คนพวกใดพวกหนึ่งที่เกิดในวรรณะกษัตริย์
คำว่า พราหมณ์ ได้แก่ คนพวกใดพวกหนึ่ง ผู้กล่าวอ้างว่าตนเป็นผู้เจริญ

ว่าด้วยเทวดา
คำว่า แก่เทวดาทั้งหลาย อธิบายว่า พวกอาชีวก เป็นเทวดาของสาวกของ
อาชีวก พวกนิครนถ์ เป็นเทวดาของสาวกของนิครนถ์ พวกชฎิล เป็นเทวดาของ
สาวกของชฎิล พวกปริพาชก เป็นเทวดาของสาวกของปริพาชก พวกดาบส เป็น
เทวดาของสาวกของดาบส ช้าง เป็นเทวดาของพวกประพฤติหัตถีพรต ม้า เป็น
เทวดาของพวกประพฤติอัศวพรต โค เป็นเทวดาของพวกประพฤติโคพรต สุนัข
เป็นเทวดาของพวกประพฤติกุกกุรพรต กา เป็นเทวดาของพวกประพฤติกากพรต
ท้าววาสุเทพ เป็นเทวดาของพวกประพฤติวาสุเทวพรต พลเทพ เป็นเทวดาของ
พวกประพฤติพลเทวพรต ท้าวปุณณภัทร เป็นเทวดาของพวกประพฤติปุณณภัทร-
พรต ท้าวมณีภัทร เป็นเทวดาของพวกประพฤติมณีภัทรพรต ไฟ เป็นเทวดาของ
พวกประพฤติอัคคิพรต นาค เป็นเทวดาของพวกประพฤตินาคพรต ครุฑ เป็น
เทวดาของพวกประพฤติสุปัณณพรต ยักษ์ เป็นเทวดาของพวกประพฤติยักขพรต
อสูร เป็นเทวดาของพวกประพฤติอสุรพรต คนธรรพ์ เป็นเทวดาของพวกประพฤติ
คนธรรพ์พรต ท้าวมหาราช เป็นเทวดาของพวกประพฤติมหาราชพรต พระจันทร์
เป็นเทวดาของพวกประพฤติจันทพรต พระอาทิตย์ เป็นเทวดาของพวกประพฤติ
สุริยพรต พระอินทร์ เป็นเทวดาของพวกประพฤติอินทพรต พรหม เป็นเทวดาของ
พวกประพฤติพรหมพรต ทิศทั้งหลาย เป็นเทวดาของพวกประพฤติทิศาพรต คน
สัตว์และสิ่งเหล่าใด ผู้ควรแก่ทักษิณาของชนเหล่าใด คน สัตว์ และสิ่งเหล่านั้น
เป็นเทวดาของชนเหล่านั้น รวมความว่า กษัตริย์ พราหมณ์ ... แก่เทวดาทั้งหลาย
คำว่า จำนวนมากในโลกนี้ ... จึงพากันบูชายัญ อธิบายว่า ไทยธรรม ได้แก่
จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ข้าว น้ำ ผ้า ยาน พวงดอกไม้
ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก เครื่องประทีป เรียกว่า ยัญ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :87 }