เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 3. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
เพราะกรรมที่เกิดจากอโทสะ เพราะกรรมที่เกิดจากอโมหะ เทวดา มนุษย์ หรือ
สุคติอื่นอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ปรากฏเพื่อความบังเกิดแห่งอัตภาพในเทวดา มนุษย์
กุศลมูล 3 ประการนี้”1 พระผู้มีพระภาคทรงรู้ ทรงเห็น พระผู้มีพระภาค
ชื่อว่าผู้มีปกติเห็นมูล ฯลฯ ทรงเห็นเหตุเกิด อย่างนี้บ้าง
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง
เป็นอกุศล เป็นส่วนอกุศล เป็นฝ่ายอกุศล ธรรมเหล่านั้นทั้งหมด ล้วนมีอวิชชา
เป็นมูลราก มีอวิชชาเป็นแหล่งรวม ธรรมเหล่านั้นทั้งหมดมีอวิชชาอันอรหัตตมรรค
กำจัดได้ ล้วนถึงความเพิกถอน”2 พระผู้มีพระภาคทรงรู้ ทรงเห็น พระผู้มีพระภาค
ชื่อว่าผู้มีปกติเห็นมูล ฯลฯ ทรงเห็นเหตุเกิด อย่างนี้บ้าง
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง
เป็นกุศล เป็นส่วนกุศล เป็นฝ่ายกุศล ธรรมเหล่านั้นทั้งหมด มีความไม่ประมาท
เป็นมูล รวมลงในความไม่ประมาท ความไม่ประมาทบัณฑิตกล่าวว่า เป็นยอด
แห่งธรรมเหล่านั้น” พระผู้มีพระภาคทรงรู้ ทรงเห็น พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าผู้
มีปกติเห็นมูล ฯลฯ ทรงเห็นเหตุเกิด อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงรู้ ทรงเห็นว่า “อวิชชาเป็นมูลแห่งสังขาร
สังขารเป็นมูลแห่งวิญญาณ วิญญาณเป็นมูลแห่งนามรูป นามรูปเป็นมูลแห่ง
สฬายตนะ สฬายตนะเป็นมูลแห่งผัสสะ ผัสสะเป็นมูลแห่งเวทนา เวทนาเป็นมูล
แห่งตัณหา ตัณหาเป็นมูลแห่งอุปาทาน อุปาทานเป็นมูลแห่งภพ ภพเป็นมูลแห่งชาติ
ชาติเป็นมูลแห่งชราและมรณะ” พระผู้มีพระภาคทรงรู้ ทรงเห็น พระผู้มีพระภาค
ชื่อว่าผู้มีปกติเห็นมูล ฯลฯ ทรงเห็นเหตุเกิด อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงรู้ ทรงเห็นว่า “จักขุประสาทเป็นมูลแห่งโรคตา
โสตประสาทเป็นมูลแห่งโรคหู ฆานประสาทเป็นมูลแห่งโรคจมูก ชิวหาประสาท
เป็นมูลแห่งโรคลิ้น กายประสาทเป็นมูลแห่งโรคกาย” พระผู้มีพระภาคทรงรู้ ทรง
เห็นว่า “มโนประสาทเป็นมูลแห่งทุกข์ทางใจ”

เชิงอรรถ :
1 องฺ.ติก.(แปล) 20/34/186-188
2 สํ.นิ. 16/223/250

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :85 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 3. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าผู้มีปกติเห็นมูล ทรงเห็นเหตุ ทรงเห็นต้นเหตุ ทรง
เห็นการเกิดขึ้น ทรงเห็นแดนเกิด ทรงเห็นสมุฏฐาน ทรงเห็นอาหาร ทรงเห็นอารมณ์
ทรงเห็นปัจจัย ทรงเห็นเหตุเกิด อย่างนี้บ้าง รวมความว่า พระองค์ผู้ไม่มีตัณหา
เหตุให้หวั่นไหว ผู้มีปกติเห็นมูล
คำว่า ดังนี้ ในคำว่า ท่านปุณณกะทูลถาม ดังนี้ เป็นบทสนธิ ฯลฯ1
รวมความว่า ท่านปุณณกะทูลถาม ดังนี้
คำว่า ข้าพระองค์มีปัญหาจะทูลถาม จึงมาเฝ้า อธิบายว่า ข้าพระองค์มี
ความต้องการด้วยปัญหา จึงมาเฝ้า คือ ข้าพระองค์ต้องการถามปัญหา จึงมาเฝ้า
ข้าพระองค์ต้องการฟังปัญหา จึงมาเฝ้า รวมความว่า ข้าพระองค์มีปัญหาจะทูลถาม
จึงมาเฝ้า
อีกนัยหนึ่ง ข้าพระองค์ต้องการปัญหา คือ ต้องการถามปัญหา ต้องการ
ฟังปัญหา จึงมาเฝ้า คือ เข้ามา เข้ามาเฝ้า เข้ามานั่งเฝ้า รวมความว่า ข้าพระ
องค์มีปัญหาจะทูลถาม จึงมาเฝ้า อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง พระองค์ทรงมีความต้องการปัญหาจึงเสด็จมา คือ แม้พระองค์
ก็ทรงเป็นผู้องอาจ ทรงสามารถ ทรงสมควรเพื่อตรัส วิสัชนา ชี้แจง ทรงกล่าว
ถึงปัญหาที่ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว อธิบายว่า ขอพระองค์ ทรงภาระนี้ รวมความว่า
ข้าพระองค์มีปัญหาจะทูลถาม จึงมาเฝ้า อย่างนี้บ้าง
คำว่า อาศัยอะไร ในคำว่า ฤๅษี มนุชะ ... อาศัยอะไร อธิบายว่า อาศัย
คือ หวัง เยื่อใย เข้าใกล้ พัวพัน น้อมใจเชื่ออะไร
คำว่า ฤๅษี อธิบายว่า คนพวกใดพวกหนึ่งที่บวชเป็นฤๅษี ได้แก่ อาชีวก
นิครนถ์ ชฎิล ดาบส เรียกชื่อว่าฤๅษี
พวกมนุษย์ตรัสเรียกว่า มนุชะ2 รวมความว่า ฤๅษี มนุชะ ... อาศัยอะไร

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 9/73
2 มนุชะ คือผู้ที่เกิดจากพระมนู (ขุ.ม.อ. 1/26)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :86 }