เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 2. ติสสเมตเตยมาณวปัญหานิทเทส
จิตย่อมคลายกำหนัด หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น ภิกษุเป็นผู้มีจิต
หลุดพ้นแล้วเป็นอย่างนี้แล เราเรียกว่า ‘มหาบุรุษ’ เพราะเขาเป็นผู้มีจิตหลุดพ้นแล้ว
เราไม่เรียกว่า ‘มหาบุรุษ’ เพราะเขาเป็นผู้มีจิตยังไม่หลุดพ้น1 รวมความว่า เรา
เรียกภิกษุนั้นว่า เป็นมหาบุรุษ
คำว่า ภิกษุนั้นชื่อว่าล่วงพ้นเครื่องร้อยรัดในโลกนี้ได้ อธิบายว่า ตัณหา
ตรัสเรียกว่า เครื่องร้อยรัด ได้แก่ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ฯลฯ อภิชฌา
อกุศลมูลคือโลภะ
เครื่องร้อยรัดนี้ ภิกษุใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับ
ได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ภิกษุนั้นชื่อว่า ล่วงพ้น คือ
ล่วง ก้าวล่วง ก้าวพ้น ล่วงเลยเครื่องร้อยรัดได้ รวมความว่า ภิกษุนั้นชื่อว่าล่วง
พ้นเครื่องร้อยรัดในโลกนี้ได้ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ภิกษุนั้นชื่อว่ารู้ชัดส่วนสุดทั้ง 2 ด้านแล้ว
ไม่ยึดติดในท่ามกลางด้วยมันตา
เราเรียกภิกษุนั้นว่าเป็นมหาบุรุษ
ภิกษุนั้นชื่อว่าล่วงพ้นเครื่องร้อยรัดในโลกนี้ได้
พร้อมกับการจบคาถา ธรรมจักษุไร้ธุลี ปราศจากมลทินว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมี
ความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา” ได้เกิดขึ้น
แก่เหล่าเทวดาและมนุษย์หลายพัน ผู้มีฉันทะ ความพยายาม ความประสงค์
การอบรมบุญญาบารมีร่วมกันกับพราหมณ์ จิตของพราหมณ์นั้นก็หลุดพ้นจาก
อาสวะเพราะไม่ถือมั่น หนังเสือ ชฎา ผ้าคากรอง ไม้เท้า ลักจั่นน้ำ ผมและ
หนวดของติสสเมตเตยยพราหมณ์ก็หายไป พร้อมกับการบรรลุอรหัตตผล ท่าน
เป็นภิกษุ มีศีรษะโล้น นุ่งห่มผ้ากาสาวะ ทรงสังฆาฏิ บาตรและจีวร เพื่อการ
ปฏิบัติเอื้อประโยชน์ จึงประคองอัญชลี นั่งลงนมัสการพระผู้มีพระภาคโดยประกาศ
ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์
เป็นสาวก”
ติสสเมตเตยยมาณวปัญหานิทเทสที่ 2 จบ

เชิงอรรถ :
1 สํ.ม. 19/377/137-138

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :82 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 3. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
3. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส1
ว่าด้วยปัญหาของปุณณกมาณพ
[12] (ท่านปุณณกะทูลถาม ดังนี้)
ข้าพระองค์มีปัญหาจะทูลถาม จึงมาเฝ้าพระองค์
ผู้ไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว ผู้มีปกติเห็นมูล
ฤๅษี มนุชะ กษัตริย์ และพราหมณ์จำนวนมากในโลกนี้
อาศัยอะไร จึงพากันบูชายัญแก่เทวดาทั้งหลาย
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด (1)
คำว่า พระองค์ผู้ไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว ผู้มีปกติเห็นมูล อธิบายว่า
ตัณหาตรัสเรียกว่า เหตุให้หวั่นไหว ได้แก่ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ฯลฯ
อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ2
ตัณหาเหตุให้หวั่นไหวนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงละได้เด็ดขาดแล้ว
ตัดรากถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี
เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงชื่อว่าไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว
เพราะพระองค์ทรงละตัณหาเหตุให้หวั่นไหวได้แล้ว จึงชื่อว่าผู้ไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่น
ไหว พระผู้มีพระภาคไม่ทรงหวั่นไหว คือ ไม่ทรงสะเทือน ไม่เคลื่อนไหว ไม่สะท้าน
ไม่สั่นสะท้าน เพราะได้ลาภ เพราะเสื่อมลาภบ้าง เพราะได้ยศ เพราะเสื่อมยศบ้าง
เพราะสรรเสริญ เพราะนินทาบ้าง เพราะสุข เพราะทุกข์บ้าง รวมความว่า พระ
องค์ผู้ไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว

ว่าด้วยกุศลมูลและอกุศลมูล 3
คำว่า ผู้มีปกติเห็นมูล อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคผู้มีปกติเห็นมูล คือ
ทรงเห็นเหตุ ทรงเห็นต้นเหตุ ทรงเห็นการเกิดขึ้น ทรงเห็นแดนเกิด ทรงเห็นสมุฏฐาน
ทรงเห็นอาหาร ทรงเห็นอารมณ์ ทรงเห็นปัจจัย ทรงเห็นเหตุเกิด

เชิงอรรถ :
1 ขุ.สุ. 25/1050-1055/533-534
2 ดูรายละเอียดที่ข้อ 2/50-51

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :83 }