เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 2. ติสสเมตเตยมาณวปัญหานิทเทส
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เมตเตยยะ)
ภิกษุเป็นผู้มีพรหมจรรย์(เพราะเห็นโทษ)ในกามทั้งหลาย
ชื่อว่าเป็นผู้สันโดษ ผู้คลายตัณหาแล้ว
มีสติทุกเมื่อ รู้ธรรมทั้งหลายแล้วดับกิเลสได้
ภิกษุนั้นชื่อว่าไม่มีความหวั่นไหว
[11] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบอีกว่า)
ภิกษุนั้นชื่อว่ารู้ชัดส่วนสุดทั้ง 2 ด้านแล้ว
ไม่ยึดติดในท่ามกลางด้วยมันตา
เราเรียกภิกษุนั้นว่าเป็นมหาบุรุษ
ภิกษุนั้นชื่อว่าล่วงพ้นเครื่องร้อยรัดในโลกนี้ได้ (3)
คำว่า ภิกษุนั้นชื่อว่ารู้ชัดส่วนสุดทั้ง 2 ด้านแล้ว ไม่ยึดติดในท่ามกลาง
ด้วยมันตา อธิบายว่า
คำว่า ส่วนสุด ได้แก่ ผัสสะเป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง ผัสสสมุทัยเป็นส่วนสุดอีก
ด้านหนึ่ง ผัสสนิโรธอยู่ท่ามกลาง
อดีตเป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง อนาคตเป็นส่วนสุดอีกด้านหนึ่ง ปัจจุบันอยู่ท่ามกลาง
สุขเวทนาเป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง ทุกขเวทนาเป็นส่วนสุดอีกด้านหนึ่ง อทุกขม-
สุขเวทนาอยู่ท่ามกลาง
นามเป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง รูปเป็นส่วนสุดอีกด้านหนึ่ง วิญญาณอยู่ท่ามกลาง
อายตนะภายใน 6 เป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง อายตนะภายนอก 6 เป็นส่วน
สุดอีกด้านหนึ่ง วิญญาณอยู่ท่ามกลาง
สักกายะเป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง สักกายสมุทัยเป็นส่วนสุดอีกด้านหนึ่ง สักกาย-
นิโรธอยู่ท่ามกลาง
ปัญญา ตรัสเรียกว่า มันตา ได้แก่ ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความ
ไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ1

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 5/58

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :79 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 2. ติสสเมตเตยมาณวปัญหานิทเทส
ว่าด้วยความยึดติด 2
คำว่า ความยึดติด ได้แก่ ความยึดติด 2 อย่าง คือ (1) ความยึดติด
ด้วยอำนาจตัณหา (2) ความยึดติดด้วยอำนาจทิฏฐิ
ความยึดติดด้วยอำนาจตัณหา เป็นอย่างไร
คือ วัตถุที่ทำให้เป็นเขต เป็นแดน เป็นส่วน เป็นแผนก กำหนดถือเอา
ยึดถือว่าเป็นของเราด้วยส่วนแห่งตัณหามีประมาณเท่าใด ย่อมยึดถือว่าเป็นของเรา
ซึ่งวัตถุมีประมาณเท่านี้ว่า นี้ของเรา นั่นของเรา เท่านี้ของเรา ของเรามีปริมาณ
เท่านี้ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เครื่องปูลาด เครื่องนุ่งห่ม ทาสหญิงชาย
แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา ที่นา ที่สวน เงิน ทอง บ้าน นิคม
ราชธานี แคว้น ชนบท กองพลรบ คลังหลวง แม้มหาปฐพีทั้งสิ้นย่อมยึดถือว่า
เป็นของเรา ด้วยอำนาจตัณหา ซึ่งจำแนกได้ 108 นี้ชื่อว่าความยึดติดด้วย
อำนาจตัณหา
ความยึดติดด้วยอำนาจทิฏฐิ เป็นอย่างไร
คือ สักกายทิฏฐิ มีวัตถุ1 20 มิจฉาทิฏฐิมีวัตถุ2 10 อันตคาหิกทิฏฐิมีวัตถุ3
10 ทิฏฐิ การตกอยู่ในทิฏฐิ ความรกชัฏคือทิฏฐิ ความกันดารคือทิฏฐิ เสี้ยน

เชิงอรรถ :
1 สักกายทิฏฐิมีวัตถุ 20 คือ ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ (1) ย่อมตามเห็นรูปเป็นอัตตา (2) เห็นอัตตามีรูป (3)
เห็นรูปในอัตตา (4) เห็นอัตตาในรูป (5) ย่อมตามเห็นเวทนาเป็นอัตตา (6) เห็นอัตตามีเวทนา (7)
เห็นเวทนาในอัตตา (8) เห็นอัตตาในเวทนา (9) ย่อมตามเห็นสัญญาเป็นอัตตา (10) เห็นอัตตามีสัญญา
(11) เห็นสัญญาในอัตตา (12) เห็นอัตตาในสัญญา (13) ย่อมตามเห็นสังขารเป็นอัตตา (14)
เห็นอัตตามีสังขาร (15) เห็นสังขารในอัตตา (16) เห็นอัตตาในสังขาร (17) ย่อมตามเห็นวิญญาณ
เป็นอัตตา (18) เห็นอัตตามีวิญญาณ (19) เห็นวิญญาณในอัตตา (20) เห็นอัตตาในวิญญาณ (สํ.ข.
17/155/149, ขุ.ม.อ. 12/158)
2 มิจฉาทิฏฐิมีวัตถุ 10 คือ (1) ทานที่ให้แล้วไม่มีผล (2) การบูชาไม่มีผล (3) การบวงสรวงไม่มีผล (4)
กรรมที่ทำไว้ดีและทำไว้ไม่ดีไม่มีผล (5) โลกนี้ไม่มี (6) โลกหน้าไม่มี (7) มารดาไม่มี (8) บิดาไม่มี
(9) สัตว์ที่เป็นโอปปาติกะไม่มี (10) สมณพรามหณ์ที่ดำเนินอัตตาชอบ ปฏิบัติชอบ ผู้ทำให้แจ้งใน
โลกนี้และโลกหน้าด้วยอัตตาเอง แล้วประกาศให้(ผู้อื่น)ทราบไม่มี (ดูรายละเอียดข้อ 143/459
3 อันตคาหิกทิฏฐิมีวัตถุ 10 หมายถึงความเห็นผิดแล่นไปสุดโต่งข้างใดข้างหนึ่ง มี 10 ประการ คือเห็นว่า
(1) โลกเที่ยง (2) โลกไม่เที่ยง (3) โลกมีที่สุด (4) โลกไม่มีที่สุด (5) ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน
(6) ชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่าง (7) หลังจากตายไปตถาคตเกิดอีก (8) หลังจากตายไปตถาคตไม่เกิดอีก
(9) หลังจากตายไปตถาคตเกิดอีกก็ใช่ ไม่เกิดอีกก็ใช่ (10) หลังจากตายไป ตถาคตเกิดอีกก็มิใช่
ไม่เกิดอีกก็มิใช่ (องฺ.ทสก. (แปล) 24/93/217-218)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :80 }