เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 2. ติสสเมตเตยมาณวปัญหานิทเทส
ภิกษุใด เป็นผู้ประกอบ ประกอบพร้อม ดำเนินไป ดำเนินไปพร้อม เป็นไป
เป็นไปพร้อม เพียบพร้อมแล้วด้วยอริยมรรคมีองค์ 8 นี้ ภิกษุนั้น ตรัสเรียกว่า
ผู้มีพรหมจรรย์
บุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยทรัพย์เรียกว่า ผู้มีทรัพย์ บุคคลผู้เพียบพร้อมด้วย
โภคะเรียกว่า ผู้มีโภคะ บุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยยศเรียกว่า ผู้มียศ บุคคลผู้เพียบ
พร้อมด้วยศิลปะ เรียกว่า ผู้มีศิลปะ บุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยศีลเรียกว่า ผู้มีศีล
บุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยความเพียรเรียกว่า ผู้มีความเพียร บุคคลผู้เพียบพร้อม
ด้วยปัญญาเรียกว่า ผู้มีปัญญา บุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยวิชชาเรียกว่า ผู้มีวิชชา
ฉันใด ภิกษุใด เป็นผู้ประกอบ ประกอบพร้อม ดำเนินไป ดำเนินไปพร้อม เป็นไป
เป็นไปพร้อม เพียบพร้อมแล้วด้วยอริยมรรคมีองค์ 8 นี้ ภิกษุนั้น ตรัสเรียกว่า
เป็นผู้มีพรหมจรรย์ ฉันนั้นเหมือนกัน รวมความว่า เป็นผู้มีพรหมจรรย์ (เพราะ
เห็นโทษ) ในกามทั้งหลาย
คำว่า เมตเตยยะ เป็นคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยโคตร
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ เป็นสัจฉิกา-
บัญญัติ1 รวมความว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เมตเตยยะ
คำว่า ตัณหา ในคำว่า ผู้คลายตัณหาแล้ว มีสติทุกเมื่อ ได้แก่ รูปตัณหา
สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา ตัณหานั้นผู้ใด
ละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก
เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้นั้น ตรัสเรียกว่า ผู้คลายตัณหาแล้ว คือ ผู้สละตัณหาแล้ว
คลายตัณหาแล้ว ปล่อยตัณหาแล้ว ละตัณหาแล้ว สลัดทิ้งตัณหาแล้ว ได้แก่
คลายราคะแล้ว สละราคะแล้ว คลายราคะแล้ว ปล่อยราคะแล้ว ละราคะแล้ว
สลัดทิ้งราคะแล้ว คือ เป็นผู้หมดความอยากแล้ว ดับแล้ว เย็นแล้ว มีตนอัน
ประเสริฐเสวยสุขอยู่

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 2/46-48

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :76 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 2. ติสสเมตเตยมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ทุกเมื่อ อธิบายว่า ทุกเมื่อ คือ ในกาลทั้งปวง ตลอดกาลทั้งปวง
ตลอดกาลเป็นนิจ ตลอดกาลยั่งยืน ตลอดกาลต่อเนื่องกัน ตลอดกาลสืบเนื่องกัน
ตลอดกาลติดต่อกัน ตลอดกาลเป็นลำดับ ตลอดกาลติดต่อกันเหมือนระลอกคลื่น
ตลอดกาลเป็นไปต่อเนื่องไม่ขาดสาย ตลอดกาลสืบต่อกันกระชั้นชิด ตลอดกาล
ก่อนภัต หลังภัต ตลอดปฐมยาม มัชฌิมยาม ปัจฉิมยาม ตลอดข้างแรม ข้างขึ้น
ตลอดฤดูฝน ฤดูหนาว ฤดูร้อน ตลอดปฐมวัย มัชฌิมวัย ปัจฉิมวัย
คำว่า มีสติ อธิบายว่า มีสติ ด้วยเหตุ 4 อย่าง คือ
1. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณากายในกาย
2. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณาเวทนาในเวทนาทั้งหลาย
3. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณาจิตในจิต
4. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณาธรรมในธรรมทั้งหลาย ฯลฯ
ภิกษุนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า มีสติ รวมความว่า ผู้คลายตัณหาแล้ว
มีสติทุกเมื่อ
คำว่า ภิกษุ ... รู้ธรรมทั้งหลายแล้วดับกิเลสได้ อธิบายว่า ญาณ ท่าน
เรียกว่า สังขา (เครื่องพิจารณา) ได้แก่ ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด ความวิจัย ฯลฯ
ความไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ1
คำว่า รู้ ... แล้ว อธิบายว่า รู้แล้ว คือทราบแล้ว เทียบเคียงแล้ว
พิจารณาแล้ว ทำให้กระจ่างแล้ว ทำให้แจ่มแจ้งแล้วว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง”
รู้แล้ว คือทราบแล้ว เทียบเคียงแล้ว พิจารณาแล้ว ทำให้กระจ่างแล้ว ทำให้
แจ่มแจ้งแล้วว่า “สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ฯลฯ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ฯลฯ
เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี ฯลฯ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นทั้งหมด ล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา”

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 5/58

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :77 }