เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 2. ติสสเมตเตยมาณวปัญหานิทเทส
[10] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เมตเตยยะ)
ภิกษุเป็นผู้มีพรหมจรรย์(เพราะเห็นโทษ)ในกามทั้งหลาย
ชื่อว่าเป็นผู้สันโดษ ผู้คลายตัณหาแล้ว
มีสติทุกเมื่อ รู้ธรรมทั้งหลายแล้วดับกิเลสได้
ภิกษุนั้นชื่อว่าไม่มีความหวั่นไหว (2)
คำว่า ภิกษุเป็นผู้มีพรหมจรรย์ (เพราะเห็นโทษ) ในกามทั้งหลาย อธิบายว่า
คำว่า กาม ได้แก่ กาม 2 อย่าง แบ่งตามหมวด คือ (1) วัตถุกาม (2)
กิเลสกาม ฯลฯ เหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม ฯลฯ เหล่านี้เรียกว่า กิเลสกาม1

ว่าด้วยอริยมรรคมีองค์ 8 เรียกว่าพรหมจรรย์
คำว่า เป็นผู้มีพรหมจรรย์ อธิบายว่า การงด งดเว้น เว้นขาด เจตนางดเว้น
กิริยาที่ไม่ทำ การไม่ทำ การไม่ละเมิด การไม่ก้าวล่วงแดนแห่งการเข้าถึงอสัทธรรม
ตรัสเรียกว่า พรหมจรรย์
อีกนัยหนึ่ง กล่าวโดยตรง อริยมรรคมีองค์ 8 คือ
1. สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ)
2. สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)
3. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ)
4. สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ)
5. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ)
6. สัมมาวายามะ (พยายามชอบ)
7. สัมมาสติ (ระลึกชอบ)
8. สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ) ตรัสเรียกว่า พรหมจรรย์

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 8/66-67

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :75 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 2. ติสสเมตเตยมาณวปัญหานิทเทส
ภิกษุใด เป็นผู้ประกอบ ประกอบพร้อม ดำเนินไป ดำเนินไปพร้อม เป็นไป
เป็นไปพร้อม เพียบพร้อมแล้วด้วยอริยมรรคมีองค์ 8 นี้ ภิกษุนั้น ตรัสเรียกว่า
ผู้มีพรหมจรรย์
บุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยทรัพย์เรียกว่า ผู้มีทรัพย์ บุคคลผู้เพียบพร้อมด้วย
โภคะเรียกว่า ผู้มีโภคะ บุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยยศเรียกว่า ผู้มียศ บุคคลผู้เพียบ
พร้อมด้วยศิลปะ เรียกว่า ผู้มีศิลปะ บุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยศีลเรียกว่า ผู้มีศีล
บุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยความเพียรเรียกว่า ผู้มีความเพียร บุคคลผู้เพียบพร้อม
ด้วยปัญญาเรียกว่า ผู้มีปัญญา บุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยวิชชาเรียกว่า ผู้มีวิชชา
ฉันใด ภิกษุใด เป็นผู้ประกอบ ประกอบพร้อม ดำเนินไป ดำเนินไปพร้อม เป็นไป
เป็นไปพร้อม เพียบพร้อมแล้วด้วยอริยมรรคมีองค์ 8 นี้ ภิกษุนั้น ตรัสเรียกว่า
เป็นผู้มีพรหมจรรย์ ฉันนั้นเหมือนกัน รวมความว่า เป็นผู้มีพรหมจรรย์ (เพราะ
เห็นโทษ) ในกามทั้งหลาย
คำว่า เมตเตยยะ เป็นคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยโคตร
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ เป็นสัจฉิกา-
บัญญัติ1 รวมความว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เมตเตยยะ
คำว่า ตัณหา ในคำว่า ผู้คลายตัณหาแล้ว มีสติทุกเมื่อ ได้แก่ รูปตัณหา
สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา ตัณหานั้นผู้ใด
ละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก
เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้นั้น ตรัสเรียกว่า ผู้คลายตัณหาแล้ว คือ ผู้สละตัณหาแล้ว
คลายตัณหาแล้ว ปล่อยตัณหาแล้ว ละตัณหาแล้ว สลัดทิ้งตัณหาแล้ว ได้แก่
คลายราคะแล้ว สละราคะแล้ว คลายราคะแล้ว ปล่อยราคะแล้ว ละราคะแล้ว
สลัดทิ้งราคะแล้ว คือ เป็นผู้หมดความอยากแล้ว ดับแล้ว เย็นแล้ว มีตนอัน
ประเสริฐเสวยสุขอยู่

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 2/46-48

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :76 }