เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 2. ติสสเมตเตยมาณวปัญหานิทเทส
2. ติสสเมตเตยยมาณวปัญหานิทเทส1
ว่าด้วยปัญหาของติสสเมตเตยยมาณพ
[9] (ท่านติสสเมตเตยยะทูลถาม ดังนี้)
ใครชื่อว่าเป็นผู้สันโดษในโลกนี้
ความหวั่นไหวทั้งหลายย่อมไม่มีแก่ใคร
ใครรู้ชัดส่วนสุดทั้ง 2 ด้านแล้ว
ไม่ยึดติดในท่ามกลางด้วยมันตา
พระองค์ตรัสเรียกใครว่าเป็นมหาบุรุษ
ใครล่วงพ้นเครื่องร้อยรัดในโลกนี้ได้ (1)
คำว่า ใครชื่อว่าเป็นผู้สันโดษในโลกนี้ อธิบายว่า ใครยินดี สันโดษ คือพอใจ
มีความดำริบริบูรณ์แล้วในโลก รวมความว่า ใครชื่อว่าเป็นผู้สันโดษในโลกนี้
คำว่า ดังนี้ ในคำว่า ท่านติสสเมตเตยยะทูลถาม ดังนี้ เป็นบทสนธิ เป็น
คำเชื่อมบท เป็นคำที่ทำบทให้บริบูรณ์ เป็นความสัมพันธ์แห่งอักษร เป็นความ
สละสลวยแห่งพยัญชนะ คำว่า ดังนี้ นี้ เป็นคำเชื่อมบทหน้ากับบทหลังเข้าด้วยกัน
คำว่า ท่าน เป็นคำกล่าวด้วยความรัก เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ คำว่า
ท่าน นี้ เป็นคำกล่าวที่มีความเคารพและความยำเกรง
คำว่า ติสสะ เป็นชื่อของพราหมณ์นั้น เป็นการกล่าวถึง การขนานนาม
การบัญญัติ ชื่อที่เรียกกัน ชื่อ การตั้งชื่อ ชื่อที่ตั้งให้ ภาษา พยัญชนะ ชื่อเรียกเฉพาะ
คำว่า เมตเตยยะ เป็นโคตร เป็นการกล่าวถึง การขนานนาม การบัญญัติ
ชื่อที่เรียกกันสำหรับพราหมณ์นั้น รวมความว่า ท่านติสสเมตเตยยะทูลถาม ดังนี้
คำว่า ความหวั่นไหวทั้งหลายย่อมไม่มีแก่ใคร อธิบายว่า ความหวั่นไหว
เพราะตัณหา ความหวั่นไหวเพราะทิฏฐิ ความหวั่นไหวเพราะมานะ ความหวั่นไหว
เพราะกิเลส ความหวั่นไหวเพราะกาม ไม่มี คือ ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ หามิได้แก่ใคร

เชิงอรรถ :
1 ขุ.สุ. 25/1047-1049/532-533)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :73 }