เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 1. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
(มีสติด้วยเหตุอีก 10 อย่าง คือ)
1. ชื่อว่ามีสติ เพราะระลึกถึงพุทธคุณ
2. ชื่อว่ามีสติ เพราะระลึกถึงธรรมคุณ
3. ชื่อว่ามีสติ เพราะระลึกถึงสังฆคุณ
4. ชื่อว่ามีสติ เพราะระลึกถึงศีลที่ตนรักษา
5. ชื่อว่ามีสติ เพราะระลึกถึงทานที่ตนบริจาคแล้ว
6. ชื่อว่ามีสติ เพราะระลึกถึงคุณที่ทำคนให้เป็นเทวดา
7. ชื่อว่ามีสติ เพราะตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก
8. ชื่อว่ามีสติ เพราะระลึกถึงความตายที่จะต้องมีเป็นธรรมดา
9. ชื่อว่ามีสติ เพราะระลึกทั่วไปในกาย(ให้เห็นว่าไม่งาม)
10. ชื่อว่ามีสติ เพราะระลึกถึงธรรมที่สงบระงับ (กิเสสและความทุกข์) คือ
นิพพาน สติ ฯลฯ สัมมาสติ สติสัมโพชฌงค์ เอกายนมรรค ตรัสเรียกว่า สติ1
ภิกษุเป็นผู้ประกอบ ประกอบพร้อม ดำเนินไป ดำเนินไปพร้อม เป็นไป เป็นไปพร้อม
เพียบพร้อมแล้วด้วยสตินี้ ภิกษุนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า ผู้มีสติ
คำว่า ภิกษุ อธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะทำลายธรรม 7 ประการได้แล้ว คือ
1. ทำลายสักกายทิฏฐิได้แล้ว
2. ทำลายวิจิกิจฉาได้แล้ว
3. ทำลายสีลัพพตปรามาสได้แล้ว
4. ทำลายราคะได้แล้ว
5. ทำลายโทสะได้แล้ว
6. ทำลายโมหะได้แล้ว
7. ทำลายมานะได้แล้ว
คือ ภิกษุนั้นทำลายบาปอกุศลธรรมซึ่งเป็นเหตุแห่งความเศร้าหมอง ก่อภพ
ใหม่ มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรา มรณะ
ต่อไปได้แล้ว

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 4/54-55

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :71 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 1. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
(สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า สภิยะ)
ผู้ใดควรแก่คำชมเชยว่าเป็นผู้ถึงนิพพานด้วยทางที่ตนทำแล้ว
ข้ามพ้นความสงสัยได้แล้ว ละความเสื่อมและความเจริญแล้ว
อยู่จบพรหมจรรย์ สิ้นภพใหม่แล้ว ผู้นั้นชื่อว่าภิกษุ1
คำว่า ภิกษุ ... มีสติดำรงอยู่ อธิบายว่า ภิกษุพึงมีสติ ดำรงอยู่ คือ พึง
มีสติเดิน พึงมีสติยืน พึงมีสตินั่ง พึงมีสตินอน พึงมีสติก้าวไปข้างหน้า พึงมีสติ
ถอยกลับ พึงมีสติมองดู พึงมีสติเหลียวดู พึงมีสติคู้เข้า พึงมีสติเหยียดออก
พึงมีสติใช้ผ้าสังฆาฏิ บาตร และจีวร พึงมีสติเที่ยวไป อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป
เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป รวมความว่า ภิกษุ... มีสติดำรงอยู่
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบว่า
ภิกษุไม่พึงปรารถนายิ่งในกามทั้งหลาย
พึงเป็นผู้มีใจไม่ขุ่นมัว ฉลาดในธรรมทั้งปวง
มีสติดำรงอยู่
พร้อมกับการจบคาถา ธรรมจักษุ2ไร้ธุลี ปราศจากมลทินว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่ง
มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา” ได้เกิด
ขึ้นแก่เหล่าเทวดาและมนุษย์หลายพัน ผู้มีฉันทะ ความพยายาม ความประสงค์
การอบรมบุญญาบารมีร่วมกันมากับพราหมณ์ จิตของพราหมณ์นั้นก็หลุดพ้นจาก
อาสวะเพราะไม่ถือมั่น หนังเสือ ชฎา ผ้าคากรอง ไม้เท้า ลักจั่นน้ำ ผมและ
หนวดของอชิตพราหมณ์ก็หายไป พร้อมกับการบรรลุอรหัตตผล ท่านเป็นภิกษุ มี
ศีรษะโล้น นุ่งห่มผ้ากาสาวะ ทรงสังฆาฏิ บาตรและจีวร เพื่อการปฏิบัติเอื้อประโยชน์
จึงประคองอัญชลี นั่งลงนมัสการพระผู้มีพระภาคโดยประกาศว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้
เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก”
อชิตมาณวปัญหานิทเทสที่ 1 จบ

เชิงอรรถ :
1 ขุ.สุ. 25/520/435, ขุ.ม.(แปล) 29/18/84)
2 ธรรมจักษุ ในที่นี้หมายถึงโสดาปัตติมรรค (ขุ.จู.อ. 8/9)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :72 }