เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 1. วัตถุคาถา
[35] ทุกคนเกล้าชฎาและครองหนังเสือ
อภิวาทพราหมณ์พาวรีและกระทำประทักษิณแล้ว
ต่างออกเดินทางมุ่งหน้าไปทางทิศอุดร
[36] สู่สถานที่ตั้งแคว้นมุฬกะ กรุงมาหิสสติในกาลนั้น
กรุงอุชเชนี เมืองโคนัทธะ เมืองเวทิสา เมืองวนสวหยา1
[37] กรุงโกสัมพี เมืองสาเกต กรุงสาวัตถีอันอุดม
เมืองเสตัพยะ กรุงกบิลพัสดุ์ กรุงกุสินารา
[38] กรุงปาวา โภคนคร กรุงเวสาลี แคว้นมคธ
และปาสาณกเจดีย์ อันรื่นรมย์ น่ารื่นเริงใจ
[39] พราหมณ์เหล่านั้นรีบขึ้นสู่ภูเขา
เหมือนคนกระหายน้ำรีบหาน้ำเย็นดื่ม
เหมือนพ่อค้าได้ลาภใหญ่มาครอง
และเหมือนคนถูกความร้อนแผดเผารีบหาร่มเงา
[40] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคมีภิกษุสงฆ์แวดล้อม
ทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายอยู่
ประหนึ่งว่าราชสีห์บันลือสีหนาทอยู่ในป่า
[41] อชิตมาณพได้เห็นพระพุทธเจ้า
ผู้เป็นดุจดวงอาทิตย์อันมีรัศมีเจิดจ้า
และดุจดวงจันทร์เต็มดวงในวันเพ็ญ
[42] ลำดับนั้น อชิตมาณพยืนอยู่ ณ ที่สมควร
รื่นเริงใจ เพราะได้เห็นอนุพยัญชนะ
บริบูรณ์ในพระวรกายของพระผู้มีพระภาค
จึงได้ทูลถามปัญหาด้วยใจว่า

เชิงอรรถ :
1 วนสวหยา มีชื่ออีก 2 อย่าง คือ (1) ปวนนคร (2) วนสาวัตถี (ขุ.สุ.อ. 2/1013-8/430)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :7 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 1. วัตถุคาถา
[43] (อชิตมาณพทูลถามปัญหาทางใจว่า)
ขอพระองค์ตรัสระบุให้แน่ชัด
ถึงชาติ โคตร พร้อมด้วยลักษณะ
ขอโปรดตรัสบอกความสำเร็จในมนตร์ทั้งหลายว่า
พราหมณ์สอนมาณพเท่าไร
[44] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
พราหมณ์นั้นมีอายุ 120 ปี ชื่อพาวรีโดยโคตร
มีลักษณะ1 3 อย่างอยู่ในตัว เป็นผู้เรียนจบไตรเพท2
[45] พราหมณ์นั้นถึงความสำเร็จ
ในลักษณะมนตร์3และประวัติศาสตร์4
พร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์5และเกฏุภศาสตร์6
ชื่อว่าถึงความสำเร็จในหลักธรรมของตน
กล่าวสอนมนตร์แก่ศิษย์ 500 คน
[46] (อชิตมาณพทูลถามว่า)
ข้าแต่พระองค์ผู้สูงสุดกว่านรชน ผู้ตัดตัณหาเสียได้
ขอพระองค์โปรดประกาศความเด่นชัด
แห่งลักษณะของพราหมณ์พาวรี
อย่าให้พวกข้าพระองค์มีความสงสัยเลย

เชิงอรรถ :
1 ลักษณะ หมายถึงมหาปุริสลักษณะ (ขุ.สุ.อ. 2/1026-7/1432)
2 ไตรเพท หมายถึงคัมภีร์ 3 คัมภีร์ คือฤคเวท (อิรุเวท) ยชุรเวท และสามเวท (ส่วนอาถรรพเวท
ปรากฏภายหลังจากการปรากฏของพระสูตรนี้
3 มนตร์ ในคัมภีร์พระเวท หมายถึงบทสวดสรรเสริญเทพเจ้า ซึ่งรวบรวมเป็นหมวด ๆ เรียกชื่อว่า ฤคเวท
ยชุรเวท สามเวท และอาถรรพเวท
4 ประวัติศาสตร์ คือพงศาวดารเล่าเรื่องเก่า ๆ มักจะมีคำว่า สิ่งนี้ได้เป็นมาอย่างนี้
5 นิฆัณฑุศาสตร์ คัมภีร์ประเภทศัพท์มูลวิทยา (Etymology) คลังศัพท์ (Lexicon) หรืออภิธานศัพท์
(Glossary) ที่รวบรวมคำศัพท์ในพระเวทซึ่งเป็นคำยาก หรือคำที่เลิกใช้แล้ว นำมาอธิบายความหมาย
เป็นส่วนหนึ่งของนิรุกติ ซึ่งเป็น 1 ในเวทางคศาสตร์ 6 ของศาสนาพราหมณ์ ภาษาสันสกฤตเรียกว่า
นิฆัณฏุ (ที.สี.อ. 256/222, ขุ.จู.อ. 15/14)
6 เกฎุภศาสตร์ คัมภีร์ว่าด้วยกฎเกณฑ์การใช้ถ้อยคำให้เหมาะสมแก่การประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ เป็นส่วน
หนึ่งของกัลปะซึ่งเป็น 1 ในเวทางคศาสตร์ 6 ของศาสนาพราหมณ์ ภาษาสันสกฤตเรียกว่า ไกฏภ
(ที.สี.อ. 256/222, ขุ.จู.อ. 15/14)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :8 }