เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 1. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
อธิจิตตสิกขา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุปฐมฌาน
ที่มีวิตก วิจาร ปีติและสุข อันเกิดจากวิเวกอยู่ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไปแล้ว
บรรลุทุติยฌาน ...บรรลุตติยฌาน... บรรลุจตุตถฌานอยู่... นี้ชื่อว่าอธิจิตตสิกขา1
อธิปัญญาสิกขา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาอันประเสริฐ
หยั่งถึงความเกิดและความดับ เพิกถอนกิเลส ให้บรรลุถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ
เธอรู้ตามความเป็นจริงว่า “นี้ทุกข์ ... นี้ทุกขสมุทัย (เหตุเกิดทุกข์) ... นี้ทุกขนิโรธ
(ความดับทุกข์)... นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา (ปฎิปทาเครื่องดำเนินไปสู่ความดับ
ทุกข์) ... เหล่านี้อาสวะ... นี้อาสวสมุทัย... นี้อาสวนิโรธ” เธอรู้ตามเป็นจริงว่า
“นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา” นี้ชื่อว่าอธิปัญญาสิกขา
สิกขา 3 เหล่านี้ เมื่อพระเสขะนึกถึง ชื่อว่าย่อมศึกษา เมื่อทราบ ชื่อว่า
ย่อมศึกษา เมื่อเห็น ชื่อว่าย่อมศึกษา เมื่ออธิษฐานจิต ชื่อว่าย่อมศึกษา เมื่อ
น้อมใจเชื่อด้วยศรัทธา ชื่อว่าย่อมศึกษา เมื่อประคองความเพียร ชื่อว่าย่อมศึกษา
เมื่อตั้งสติ ชื่อว่าย่อมศึกษา เมื่อตั้งใจมั่น ชื่อว่าย่อมศึกษา เมื่อรู้ชัดด้วยปัญญา
ชื่อว่าย่อมศึกษา เมื่อรู้ชัดธรรมที่ควรรู้ชัด ชื่อว่าย่อมศึกษา เมื่อกำหนดรู้ธรรม
ที่ควรกำหนดรู้ ชื่อว่าย่อมศึกษา เมื่อละธรรมที่ควรละ ชื่อว่าย่อมศึกษา เมื่อเจริญ
ธรรมที่ควรเจริญ ชื่อว่าย่อมศึกษา เมื่อทำให้แจ้งธรรมที่ควรทำให้แจ้ง ชื่อว่าย่อม
ศึกษา คือ ย่อมประพฤติ ประพฤติเอื้อเฟื้อ ประพฤติเอื้อเฟื้อโดยชอบ สมาทาน
ประพฤติ เพราะเหตุนั้น จึงตรัสเรียกว่า พระเสขะ
คำว่า เป็นอันมาก ได้แก่ มากมาย พระเสขะเหล่านี้ คือ พระโสดาบัน
และผู้ปฏิบัติเพื่อโสดาปัตติผล พระสกทาคามีและผู้ปฏิบัติเพื่อสกทาคามิผล พระ
อนาคามีและผู้ปฏิบัติเพื่ออนาคามิผล พระอรหันต์และผู้ปฏิบัติเพื่ออรหัตตผล
คำว่า ในที่นี้ ได้แก่ ในความเห็นนี้ ความถูกใจนี้ ความพอใจนี้ ความยึดถือนี้
ธรรมนี้ วินัยนี้ ธรรมวินัยนี้ ปาพจน์นี้ พรหมจรรย์นี้ สัตถุศาสน์นี้ อัตภาพนี้
มนุษยโลกนี้ รวมความว่า และพระเสขะเหล่าใดที่มีอยู่เป็นอันมากในที่นี้

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดจาก ขุ.ม. (แปล) 29/10/48

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :64 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 1. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว ขอพระองค์ผู้
มีปัญญา โปรดตรัสบอกการดำเนินชีวิตของพระอรหันตขีณาสพ และพระเสขะ
เหล่านั้นเถิด อธิบายว่า แม้พระองค์ผู้มีปัญญา คือ เป็นบัณฑิต มีปัญญา มี
ปัญญาเครื่องตรัสรู้ มีญาณ มีปัญญาแจ่มกระจ่าง มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส
(โปรดตรัสบอก) การดำเนินชีวิต คือ จริยา ความประพฤติ ความประพฤติเอื้อเฟื้อ
อาจาระ โคจร วิหารธรรม1 ปฏิปทาของท่านผู้มีสังขาตธรรม และพระเสขะเหล่า
นั้นเถิด
คำว่า ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว ได้แก่ ทูลถามแล้ว คือ ทูลปุจฉา ทูลขอ
ทูลอัญเชิญ ทูลให้ประกาศ
คำว่า โปรดตรัสบอก ได้แก่ โปรดตรัส คือ โปรดบอก แสดง บัญญัติ กำหนด
เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศ
คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เป็นคำกล่าวด้วยความรัก เป็นคำกล่าวโดย
ความเคารพ คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ นี้ เป็นคำกล่าวที่มีความเคารพและ
ความยำเกรง รวมความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว ขอ
พระองค์ผู้มีปัญญา โปรดตรัสบอกการดำเนินชีวิตของพระอรหันตขีณาสพ และ
พระเสขะเหล่านั้นเถิด ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงทูลถามว่า
พระอรหันตขีณาสพเหล่าใดผู้มีสังขาตธรรม
และพระเสขะเหล่าใดที่มีอยู่เป็นอันมากในที่นี้
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว
ขอพระองค์ผู้มีปัญญา โปรดตรัสบอกการดำเนินชีวิต
ของพระอรหันตขีณาสพ และพระเสขะเหล่านั้นเถิด
[8] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
ภิกษุไม่พึงปรารถนายิ่งในกามทั้งหลาย
พึงเป็นผู้มีใจไม่ขุ่นมัว ฉลาดในธรรมทั้งปวง
มีสติดำรงอยู่ (8)

เชิงอรรถ :
1 วิหารธรรม ในที่นี้หมายถึงความเป็นไปแห่งอิริยาบถ (ขุ.จู.อ. 7/8)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :65 }