เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 1. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
พระอรหันตขีณาสพเหล่านั้นมีภพนี้เป็นภพสุดท้าย
มีการประชุมแห่งขันธ์เป็นครั้งสุดท้าย
ไม่มีการเวียนเกิด เวียนตาย และภพใหม่ก็ไม่มีอีก
เพราะเหตุนั้น พระอรหันตขีณาสพ พระผู้มีพระภาค จึงตรัสเรียกว่า ผู้มี
สังขาตธรรม รวมความว่า พระอรหันตขีณาสพเหล่าใด ผู้มีสังขาตธรรม

ว่าด้วยสิกขา 3
คำว่า เสขะ ในคำว่า และพระเสขะเหล่าใดที่มีอยู่เป็นอันมากในที่นี้
อธิบายว่า เพราะเหตุไร จึงเรียกว่าพระเสขะ เพราะท่านยังต้องศึกษา จึงเรียกว่า
พระเสขะ ท่านยังต้องศึกษาอะไร ท่านยังต้องศึกษาอธิสีลสิกขาบ้าง อธิจิตตสิกขา
บ้าง อธิปัญญาสิกขาบ้าง
อธิสีลสิกขา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์1
สมบูรณ์ด้วยอาจาระ2และโคจร เห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาใน
สิกขาบททั้งหลายอยู่ คือ สีลขันธ์เล็ก3 สีลขันธ์ใหญ่4 ศีลเป็นที่พึ่ง เป็นเบื้องต้น
เป็นความประพฤติ เป็นความสำรวม เป็นความระวัง เป็นหัวหน้า เป็นประธาน
เพื่อความถึงพร้อมแห่งธรรมที่เป็นกุศล นี้ชื่อว่าอธิสีลสิกขา

เชิงอรรถ :
1 สังวรในปาติโมกข์ มีอรรถาธิบายแต่ละคำดังนี้คือ สังวร หมายถึงการไม่ล่วงละเมิดทางกายวาจา
ปาติโมกข์ หมายถึงสีลสิกขาบท ที่เป็นเหตุให้ผู้รักษาหลุดพ้นจากทุกข์ (ปาติ=รักษา+โมกขะ=ความ
หลุดพ้น) (วิสุทฺธิ. 1/14/17)
2 อาจาระ หมายถึงการไม่ล่วงละเมิดทางกาย การไม่ล่วงละเมิดทางวาจา การไม่ล่วงละเมิดทางกายและ
ทางวาจา หรือการสำรวมศีลทั้งหมด คือการไม่เลี้ยงชีพด้วยอาชีพที่ผิด ที่พระพุทธเจ้าทรงรังเกียจ เช่น
ไม่เลี้ยงชีพด้วยการให้ไม้ไผ่ ให้ใบไม้ ผลไม้ เครื่องสนาน ไม้สีฟัน ไม่เลี้ยงชีพด้วยการทำตนต่ำกว่าคฤหัสถ์
ด้วยการพูดเล่นเป็นแกงถั่ว(จริงบ้างไม่จริงบ้าง) ไม่เลี้ยงชีพด้วยการเลี้ยงเด็ก และการรับส่งข่าว (วิสุทฺธิ.
1/14/18)
3 สีลขันธ์เล็ก หมายถึงอาบัติที่แก้ไขได้ คือ อาบัติสังฆาทิเสสจนถึงทุกกฏ (ขุ.ม.อ. 10/120)
4 สีลขันธ์ใหญ่ หมายถึงอาบัติที่แก้ไขไม่ได้ คือ อาบัติปาราชิก (ขุ.ม.อ. 10/120)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :63 }