เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 1. วัตถุคาถา
[28] แต่ถ้าบุคคลนั้น ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
จะเป็นพระอรหันตสัมพุทธเจ้าผู้ยอดเยี่ยม
มีกิเลสดุจเครื่องปิดบัง1อันเปิดแล้ว
[29] พวกเธอจงทูลถามด้วยใจเท่านั้นถึงชาติ
โคตร ลักษณะ มนตร์ ศิษย์คนอื่น ๆ
ศีรษะและธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป
[30] ถ้าบุคคลนั้นเป็นพระพุทธเจ้า
ผู้มีปกติเห็นธรรมหาเครื่องกางกั้นมิได้
เมื่อพวกเธอถามปัญหาด้วยใจแล้ว
ก็จักทรงวิสัชนาด้วยพระวาจา
[31] ครั้นฟังคำของพราหมณ์พาวรีแล้ว
พราหมณ์ 16 คนผู้เป็นศิษย์ คือ (1) อชิตะ
(2) ติสสเมตเตยยะ (3) ปุณณกะ (4) เมตตคู
[32] (5) โธตกะ (6) อุปสีวะ (7) นันทะ (8) เหมกะ
(9) โตเทยยะ (10) กัปปะ (11) ชตุกัณณิ ผู้เป็นบัณฑิต
[33] (12) ภัทราวุธ (13) อุทัย (14) โปสาละ
(15) โมฆราช ผู้มีปัญญา (16) ปิงคิยะ ผู้เป็นมหาฤๅษี
[34] พราหมณ์ผู้เป็นศิษย์ 16 คนนั้น
แต่ละคนเป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ มีชื่อปรากฏแก่ชาวโลกทั่วไป
เป็นผู้บำเพ็ญฌาน ยินดีในฌาน
เป็นผู้มีปัญญาปราดเปรื่อง
เคยอบรมวาสนาแต่ชาติปางก่อนทั้งนั้น

เชิงอรรถ :
1 กิเลสดุจเครื่องปิดบัง มี 5 อย่าง ได้แก่ ตัณหา ทิฏฐิ กิเลส ทุจริต อวิชชา พระผู้มีพระภาค
ทรงเผากิเลสเหล่านี้ด้วยไฟคือญาณ (ดูรายละเอียดในข้อ 118/385)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :6 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 1. วัตถุคาถา
[35] ทุกคนเกล้าชฎาและครองหนังเสือ
อภิวาทพราหมณ์พาวรีและกระทำประทักษิณแล้ว
ต่างออกเดินทางมุ่งหน้าไปทางทิศอุดร
[36] สู่สถานที่ตั้งแคว้นมุฬกะ กรุงมาหิสสติในกาลนั้น
กรุงอุชเชนี เมืองโคนัทธะ เมืองเวทิสา เมืองวนสวหยา1
[37] กรุงโกสัมพี เมืองสาเกต กรุงสาวัตถีอันอุดม
เมืองเสตัพยะ กรุงกบิลพัสดุ์ กรุงกุสินารา
[38] กรุงปาวา โภคนคร กรุงเวสาลี แคว้นมคธ
และปาสาณกเจดีย์ อันรื่นรมย์ น่ารื่นเริงใจ
[39] พราหมณ์เหล่านั้นรีบขึ้นสู่ภูเขา
เหมือนคนกระหายน้ำรีบหาน้ำเย็นดื่ม
เหมือนพ่อค้าได้ลาภใหญ่มาครอง
และเหมือนคนถูกความร้อนแผดเผารีบหาร่มเงา
[40] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคมีภิกษุสงฆ์แวดล้อม
ทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายอยู่
ประหนึ่งว่าราชสีห์บันลือสีหนาทอยู่ในป่า
[41] อชิตมาณพได้เห็นพระพุทธเจ้า
ผู้เป็นดุจดวงอาทิตย์อันมีรัศมีเจิดจ้า
และดุจดวงจันทร์เต็มดวงในวันเพ็ญ
[42] ลำดับนั้น อชิตมาณพยืนอยู่ ณ ที่สมควร
รื่นเริงใจ เพราะได้เห็นอนุพยัญชนะ
บริบูรณ์ในพระวรกายของพระผู้มีพระภาค
จึงได้ทูลถามปัญหาด้วยใจว่า

เชิงอรรถ :
1 วนสวหยา มีชื่ออีก 2 อย่าง คือ (1) ปวนนคร (2) วนสาวัตถี (ขุ.สุ.อ. 2/1013-8/430)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :7 }