เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 1. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
[5] (ท่านอชิตะทูลถาม ดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ปัญญา สติ
นามและรูปนี้ดับที่ไหน ข้าพระองค์ได้ทูลถามแล้ว
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกเนื้อความนั้น
แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด (5)

ว่าด้วยปัญญา
คำว่า ปัญญา ในคำว่า ปัญญา สติ อธิบายว่า ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด
ความวิจัย ความเลือกเฟ้น ความสอดส่องธรรม ความกำหนดหมาย ความ
เข้าไปกำหนด ความเข้าไปกำหนดเฉพาะ ภาวะที่รู้ ภาวะที่ฉลาด ภาวะที่รู้ละเอียด
ความรู้อย่างแจ่มแจ้ง ความคิดค้น ความใคร่ครวญ ปัญญาดุจแผ่นดิน ปัญญา
เครื่องทำลายกิเลส ปัญญาเครื่องนำทาง ปัญญาเครื่องเห็นแจ้ง ความรู้ดี ปัญญา
ดุจปฏัก ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ปัญญาดุจศัสตรา ปัญญาดุจปราสาท
ความสว่างคือปัญญา แสงสว่างคือปัญญา ปัญญาดุจดวงประทีป ปัญญาดุจดวงแก้ว
ความไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ
คำว่า สติ ได้แก่ สติ คือ ความระลึกถึง ฯลฯ สัมมาสติ รวมความว่า
ปัญญา สติ ท่านอชิตะทูลถาม ดังนี้
คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ... นามและรูป อธิบายว่า
คำว่า นาม ได้แก่ ขันธ์ที่มิใช่รูป 4 อย่าง
คำว่า รูป ได้แก่ มหาภูตรูป1 4 และรูปที่อาศัยมหาภูตรูปทั้ง2 4

เชิงอรรถ :
1 มหาภูตรูป คือรูปใหญ่ รูปต้นเดิม คือธาตุ 4 ได้แก่ (1) ปฐวีธาตุ สภาวะที่แผ่ไปหรือกินเนื้อที่
สภาพอันเป็นหลักที่ตั้งที่อาศัยแห่งสหชาตรูป เรียกสามัญว่า ธาตุแข้นแข็งหรือธาตุดิน (2) อาโปธาตุ
สภาวะที่เอิบอาบหรือดูดซึม ซ่านไป ขยายขนาด ผนึก พูนเข้าด้วยกัน เรียกสามัญว่า ธาตุเหลว
หรือธาตุน้ำ (3) เตโชธาตุ สภาวะที่ทำให้ร้อน เรียกสามัญว่า ธาตุไฟ (4) วาโยธาตุ สภาวะที่ทำให้สั่นไหว
เคลื่อนที่ ค้ำจุน เรียกสามัญว่า ธาตุลม (ที.สี. (แปล) 9/487-499/216-220)
2 รูปที่อาศัยมหาภูตรูป 4 หรือทับศัพท์บาลีว่า อุปาทายรูป มี 24 คือ
ก. ปสาทรูป 5 (รูปที่เป็นประธานสำหรับรับอารมณ์) (1) ตา (2) หู (3) จมูก (4) ลิ้น (5) กาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :58 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 1. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เป็นคำกล่าวด้วยความรัก เป็นคำกล่าวโดย
ความเคารพ คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ นี้ เป็นคำกล่าวที่มีความเคารพและ
ความยำเกรง รวมความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ... นามและรูป
คำว่า เนื้อความนั้นแก่ข้าพระองค์ ในคำว่า ข้าพระองค์ได้ทูลถามแล้ว ขอ
พระองค์โปรดตรัสบอกเนื้อความนั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด ได้แก่ เนื้อความที่ข้า
พระองค์ทูลถาม คือ เนื้อความที่ข้าพระองค์ทูลขอ เนื้อความที่ข้าพระองค์ทูลอัญเชิญ
เนื้อความที่ข้าพระองค์ทูลให้ประกาศ
คำว่า ได้ทูลถามแล้ว ได้แก่ ได้ทูลถามแล้ว คือ ทูลขอแล้ว ทูลอัญเชิญ
ทูลให้ประกาศแล้ว
คำว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอก ได้แก่ ขอพระองค์โปรดตรัส คือ โปรดบอก
แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศ รวมความว่า
ข้าพระองค์ได้ทูลถามแล้ว ขอพระองค์โปรดตรัสบอกเนื้อความนั้นแก่ข้าพระองค์
ด้วยเถิด

เชิงอรรถ :
ข. โคจรรูป หรือวิสัยรูป 5 (รูปที่เป็นอารมณ์หรือแดนรับรู้ของอินทรีย์) (6) รูป (7) เสียง (8) กลิ่น
(9) รส (0) โผฏฐัพพะ (ข้อนี้ไม่นับเพราะเป็นอันเดียวกับมหาภูตรูป 3 คือ ปฐวี เตโช วาโย)
ค. ภาวรูป 2 (รูปที่เป็นภาวะแห่งเพศ) (10) อิตถัตตะ อิตถินทรีย์ ความเป็นหญิง (11) ปุริสัตตะ
ปุริสินทรีย์ ความเป็นชาย
ง. หทัยรูป 1 (รูปคือหทัย) (12) หทัยวัตถุ ที่ตั้งแห่งใจ หัวใจ
จ. ชีวิตรูป 1 (รูปที่เป็นชีวิต) (13) ชีวิตินทรีย์ อินทรีย์คือชีวิต
ฉ. อาหารรูป 1 (รูปคืออาหาร) (14) กวฬิงการาหาร อาหารคือคำข้าว
ช. ปริจเฉทรูป 1 (รูปที่กำหนดเทศะ) (15) อากาสธาตุ สภาวะคือช่องว่าง
ญ. วิญญัติรูป 2 (รูปคือการเคลื่อนไหวให้รู้ความหมาย) (16) กายวิญญัติ การเคลื่อนไหวให้รู้
ความหมายด้วยกาย (17) วจีวิญญัติ การเคลื่อนไหวให้รู้ความหมายด้วยวาจา
ฎ. วิการรูป 5 (รูปคืออาการที่ดัดแปลงทำให้แปลกให้พิเศษได้) (18) (รูปัสส) ลหุตา ความเบา (19)
(รูปัสส) มุทุตา ความอ่อนสลวย (20) (รูปัสส) กัมมัญญตา ความควรแก่การงาน ใช้การได้
(0) วิญญัติรูป 2 ข้อนี้ท่านไม่นับเพราะซ้ำกับข้อ ญ
ฏ. ลักขณรูป 4 (รูปคือลักษณะหรืออาการเป็นเครื่องกำหนด) (22) (รูปัสส) อุปจย ความก่อตัว (รูปัสส)
สันตติ ความสืบต่อ (23) (รูปัสส) ชรตา ความทรุดโทรม (24) (รูปัสส) อนิจจตา ความ
ปรวนแปรแตกสลาย (อภิ.สงฺ. (แปล) 34/584-984/169-255)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :59 }