เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 1. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศธรรมเครื่องขวาง เครื่องกั้น เครื่องป้องกัน รักษา
คุ้มครองกระแสทั้งหลาย รวมความว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมเครื่อง
ป้องกันกระแสทั้งหลาย
คำว่า อะไรปิดกั้นกระแสทั้งหลายได้ อธิบายว่า กระแสทั้งหลาย ถูกอะไร
ปิดกั้น คือ ถูกตัดขาด จึงไม่ไหลไป ไม่ซ่านไป ไม่หลั่งไหล ไม่เป็นไป รวมความว่า
อะไรปิดกั้นกระแสทั้งหลายได้ ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกราบทูลว่า
(ท่านอชิตะทูลถาม ดังนี้)
กระแสทั้งหลายย่อมไหลไปในที่ทั้งปวง
อะไรเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมเครื่องป้องกันกระแสทั้งหลาย
อะไรปิดกั้นกระแสทั้งหลายได้
[4] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อชิตะ)
กระแสเหล่าใดในโลก
สติเป็นเครื่องกั้นกระแสเหล่านั้นได้
เรากล่าวธรรมเครื่องป้องกันกระแสทั้งหลาย
ปัญญาปิดกั้นกระแสเหล่านั้นได้ (4)
คำว่า กระแสเหล่าใดในโลก อธิบายว่า กระแสเหล่านั้นใดที่เราตอบ ชี้แจง
บอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศไว้ คือ
กระแสตัณหา กระแสทิฏฐิ กระแสกิเลส กระแสทุจริต กระแสอวิชชา
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก
อายตนโลก รวมความว่า กระแสเหล่าใดในโลก
คำว่า อชิตะ เป็นคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อ
คำว่า สติ ในคำว่า สติเป็นเครื่องกั้นกระแสเหล่านั้นได้ อธิบายว่า สติ
คือ ความตามระลึกถึง ความระลึกได้เฉพาะหน้า สติ คือ ความระลึกได้ ความจำได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :54 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 1. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
ความไม่เลื่อนลอย ความไม่หลงลืม สติ คือ สตินทรีย์ (สติที่เป็นใหญ่)
สติพละ(สติที่เป็นกำลัง) สัมมาสติ (ระลึกชอบ) สติสัมโพชฌงค์ (สติที่เป็นองค์
แห่งการตรัสรู้ธรรม) เอกายนมรรค (มรรคที่เป็นทางเอก) นี้ ตรัสเรียกว่า สติ
คำว่า เป็นเครื่องกั้น อธิบายว่า เป็นเครื่องขวาง เป็นเครื่องกั้น คือ เป็น
เครื่องป้องกัน รักษา คุ้มครอง รวมความว่า สติเป็นเครื่องกั้นกระแสเหล่านั้นได้
คำว่า เรากล่าวธรรมเครื่องป้องกันกระแสทั้งหลาย อธิบายว่า เรากล่าว
คือ บอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศเครื่องขวาง
เครื่องกั้น เครื่องป้องกัน รักษา คุ้มครองกระแสทั้งหลาย รวมความว่า เรา
กล่าวธรรมเครื่องป้องกันกระแสทั้งหลาย
คำว่า ปัญญาปิดกั้นกระแสเหล่านั้นได้ อธิบายว่า
คำว่า ปัญญา ได้แก่ ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลงงมงาย
ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ1
คำว่า ปัญญาปิดกั้นกระแสเหล่านั้นได้ อธิบายว่า กระแสเหล่านั้นปัญญา
ปิดกั้นได้ คือ ตัดขาดไป จึงไม่ไหลไป ไม่ซ่านไป ไม่หลั่งไหล ไม่เป็นไป กระแส
เหล่านั้นปัญญาของผู้รู้ ผู้เห็นอยู่ว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง” ปิดกั้นได้ คือ ตัด
ขาดไป จึงไม่ไหลไป ไม่ซ่านไป ไม่หลั่งไหล ไม่เป็นไป กระแสเหล่านั้นปัญญาของ
ผู้รู้ ผู้เห็นอยู่ว่า “สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์” ปิดกั้นได้ คือ ตัดขาดไป จึงไม่ไหลไป
ไม่ซ่านไป ไม่หลั่งไหล ไม่เป็นไป กระแสเหล่านั้นปัญญาของผู้รู้ ผู้เห็นอยู่ว่า
“ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา” ปิดกั้นได้ คือ ตัดขาดไป จึงไม่ไหลไป ไม่ซ่านไป ไม่
หลั่งไหล ไม่เป็นไป

ว่าด้วยปฏิจจสมุปบาท
กระแสเหล่านั้นปัญญาของผู้รู้ ผู้เห็นอยู่ว่า “เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขาร
จึงมี” ปิดกั้นได้ คือ ตัดขาดไป จึงไม่ไหลไป ไม่ซ่านไป ไม่หลั่งไหล ไม่เป็นไป

เชิงอรรถ :
1 ดูรายระเอียดข้อ 5/58

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :55 }