เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [จตุตถวรรค] 8. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
ว่าด้วยสังโยชน์ 10
คำว่า ทำลายสังโยชน์ได้แล้ว ได้แก่ สังโยชน์ 10 อย่าง คือ
1. กามราคสังโยชน์
2. ปฏิฆสังโยชน์ ฯลฯ
10. อวิชชาสังโยชน์1
คำว่า ทำลายสังโยชน์ได้แล้ว อธิบายว่า ทำลาย คือ ทะลาย ทำให้พัง
ทำให้พังทลาย ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งสังโยชน์ 10
อย่าง รวมความว่า ทำลายสังโยชน์ได้แล้ว
คำว่า ไม่สะดุ้งในเวลาสิ้นชีวิต อธิบายว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ในเวลา
จบชีวิต ก็ไม่สะดุ้ง ไม่หวาดหวั่น ไม่หวาดเสียว ไม่สะทกสะท้าน ไม่ตกใจ ไม่
หวาดกลัว ไม่ขลาด ไม่หวาดเสียว ไม่สะดุ้ง ไม่หนี ละภัยและความหวาดกลัว
ได้แล้ว หมดความขนพองสยองเกล้า อยู่ รวมความว่า ไม่สะดุ้งในเวลาสิ้นชีวิต
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด ด้วยเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึง
กล่าวว่า
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ละราคะ โทสะ และโมหะ
ทำลายสังโยชน์ได้แล้ว ไม่สะดุ้งในเวลาสิ้นชีวิต
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด
[161] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า)
ทุกวันนี้มิตรทั้งหลายมีประโยชน์เป็นเหตุ
จึงคบและเสพด้วย มิตรที่ไม่มุ่งประโยชน์หาได้ยาก
มนุษย์ทั้งหลายมีปัญญามุ่งประโยชน์ตนไม่สะอาด
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด
(10)

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 148/471

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :499 }