เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [จตุตถวรรค] 8. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นละข่ายตัณหา สลัดทิ้งข่ายทิฏฐิได้แล้ว เพราะเป็นผู้
ละข่ายตัณหา สลัดทิ้งข่ายทิฏฐิได้แล้ว พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น จึงไม่ข้องขัดอยู่
ในรูป เสียง ฯลฯ ในรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ได้รับรู้
และธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้ง ได้แก่ ไม่ยึด ไม่ผูก ไม่พัวพัน เป็นผู้ออกแล้ว สลัดออก
หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้อง มีใจเป็นอิสระ(จากกิเลส) อยู่ ฉันนั้น รวมความว่า ไม่ติด
ข่ายเหมือนลม
คำว่า ไม่เปียกน้ำ เหมือนบัว อธิบายว่า
ดอกบัว เรียกว่า บัว
น้ำท่า เรียกว่า น้ำ
ดอกบัวไม่เปียก คือ ไม่เปื้อน ไม่เข้าไปติดด้วยน้ำ น้ำไม่เปียก ไม่เปื้อน
ไม่เข้าไปติดดอกบัว ฉันใด ความยึดติดมี 2 อย่าง คือ (1) ความยึดติดด้วย
อำนาจตัณหา (2) ความยึดติดด้วยอำนาจทิฏฐิ ฯลฯ นี้ชื่อว่าความยึดติดด้วย
อำนาจตัณหา ฯลฯ นี้ชื่อว่าความยึดติดด้วยอำนาจทิฏฐิ1
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นละความยึดติดด้วยอำนาจตัณหา สลัดทิ้งความยึด
ติดด้วยอำนาจทิฏฐิได้แล้ว เพราะเป็นผู้ละความยึดติดด้วยอำนาจตัณหา สลัดทิ้ง
ความยึดติดด้วยอำนาจทิฏฐิแล้ว พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงไม่ติด ไม่ติดพัน
ไม่เข้าไปติดในรูป ฯลฯ เสียง ฯลฯ รูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
ที่ได้รับรู้ และธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้ง คือ ไม่ติดแล้ว ไม่ติดพันแล้ว ไม่เข้าไปติดแล้ว
ออกแล้ว สลัดออกแล้ว หลุดพ้นแล้ว ไม่เกี่ยวข้องแล้ว มีใจเป็นอิสระ(จากกิเลส) อยู่
ฉันนั้น รวมความว่า ไม่เปียกน้ำเหมือนบัว จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด
ด้วยเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ไม่สะดุ้งในเพราะเสียง
เหมือนราชสีห์ ไม่ติดข่ายเหมือนลม ไม่เปียกน้ำเหมือนบัว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด

เชิงอรรถ :
1 เทียบกับความในข้อ 11/80-81

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :495 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [จตุตถวรรค] 8. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
[158] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า)
พญาสีหราชมีเขี้ยวเป็นกำลัง
ข่มขี่ ครอบงำเนื้อทั้งหลาย เที่ยวไป ฉันใด
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าก็มีปัญญาเป็นกำลัง
ครอบงำบุคคลทั้งหลายด้วยปัญญา
ใช้สอยเสนาสนะอันสงัด
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉันนั้น (7)
คำว่า พญาสีหราชมีเขี้ยวเป็นกำลัง ข่มขี่ครอบงำเนื้อทั้งหลาย เที่ยวไป
ฉันใด อธิบายว่า สีหะ พญามฤคราช มีเขี้ยวเป็นกำลัง คือ มีเขี้ยวเป็นอาวุธครอบงำ
คือ ข่มขี่ ท่วมทับ กำจัด ย่ำยีสัตว์เดรัจฉานทุกจำพวก เป็นอยู่ คือ อยู่ เคลื่อนไหว
เป็นไป เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป ฉันใด
แม้พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าก็มีปัญญาเป็นกำลัง คือ มีปัญญาเป็นอาวุธ ย่อม
ครอบงำ คือ ข่มขี่ ท่วมทับ กำจัด ย่ำยีบุคคลผู้มีชีวิตทุกจำพวกด้วยปัญญา
ประพฤติอยู่ คือ อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป
ฉันนั้นเหมือนกัน รวมความว่า พญาสีหราชมีเขี้ยวเป็นกำลังข่มขี่ครอบงำเนื้อ
ทั้งหลาย เที่ยวไป ฉันใด
คำว่า ใช้สอยเสนาสนะอันสงัด อธิบายว่า สีหะ พญามฤคราช เข้าสู่ป่าลึก
เป็นอยู่ คือ อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป ฉันใด
แม้พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าก็ย่อมใช้สอยเสนาสนะอันเป็นป่าทึบและป่าละเมาะ อันสงัด
มีเสียงน้อย มีเสียงอึกทึกน้อย ปราศจากการสัญจรไปมาของผู้คน ควรเป็นสถาน
ที่ทำการลับของมนุษย์ สมควรเป็นที่หลีกเร้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น เดินไป
ผู้เดียว ยืนผู้เดียว นั่งผู้เดียว นอนผู้เดียว เข้าหมู่บ้านเพื่อบิณฑบาตผู้เดียว กลับ
ผู้เดียว นั่งในที่ลับผู้เดียว อธิษฐานจงกรมผู้เดียว ประพฤติอยู่ คือ อยู่ เคลื่อนไหว
เป็นไป เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไปผู้เดียว ฉันนั้น รวมความว่า ใช้สอย
เสนาสนะอันสงัด จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด ด้วยเหตุนั้น พระปัจเจก-
สัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :496 }