เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [จตุตถวรรค] 8. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
คำว่า ไม่ประมาท อธิบายว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ทำโดยเคารพ
ทำติดต่อ ฯลฯ ชื่อว่าไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลาย รวมความว่า ปรารถนา
ความสิ้นตัณหา ไม่ประมาท
คำว่า ไม่โง่เขลา ในคำว่า ไม่โง่เขลา คงแก่เรียน มีสติ อธิบายว่า
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น เป็นบัณฑิต มีปัญญา มีปัญญาเครื่องตรัสรู้ มีญาณ มี
ปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส รวมความว่า ไม่โง่เขลา
คำว่า คงแก่เรียน อธิบายว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น เป็นพหูสูต ทรงจำ
สิ่งที่เล่าเรียนมาแล้วไว้ได้ สั่งสมสิ่งที่เล่าเรียนมาแล้วไว้ได้ คือ ธรรมเหล่าใด ที่มี
ความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง มีความงามในที่สุด ประกาศ
พรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน ธรรมเห็น
ปานนั้นเป็นธรรมที่ท่านเล่าเรียนมามาก ทรงจำไว้ได้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอด
ชัดเจนตามทฤษฎี รวมความว่า คงแก่เรียน
คำว่า มีสติ อธิบายว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นเป็นผู้มีสติ คือ เพียบพร้อม
ด้วยสติและปัญญารักษาตนอย่างยอดเยี่ยม ระลึกได้ ตามระลึกถึงกรรมที่ทำ คำที่
พูดไว้นานแล้วได้ รวมความว่า ไม่โง่เขลา คงแก่เรียน มีสติ
คำว่า ผู้มีสังขาตธรรม ผู้แน่นอน มีความมุ่งมั่น อธิบายว่า ญาณ ท่าน
เรียกว่า สังขาตธรรม ได้แก่ ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลงงมงาย
ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ1
คำว่า ผู้มีสังขาตธรรม อธิบายว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นผู้มีสังขาตธรรม
คือ ผู้รู้ธรรม ผู้เทียบเคียงธรรม ผู้พิจารณาธรรม ผู้รู้แจ้งธรรม ผู้เห็นแจ้งธรรม ได้แก่
ผู้มีสังขาตธรรม ผู้รู้ธรรม ผู้เทียบเคียงธรรม ผู้พิจารณาธรรม ผู้รู้แจ้งธรรม ผู้เห็น
แจ้งธรรมว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ฯลฯ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา”

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 5/58

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :492 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [จตุตถวรรค] 8. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
อีกนัยหนึ่ง พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นรู้ขันธ์ ธาตุ อายตนะ คติ อุปบัติ
ปฏิสนธิ ภพ สังขาร วัฏฏะได้แล้ว
อีกนัยหนึ่ง พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นดำรงอยู่ในที่สุดแห่งขันธ์ ในที่สุด
แห่งธาตุ ในที่สุดแห่งอายตนะ ในที่สุดแห่งคติ ในที่สุดแห่งอุปบัติ ในที่สุดแห่ง
ปฏิสนธิ ในที่สุดแห่งภพ ในที่สุดแห่งสงสาร ในที่สุดแห่งวัฏฏะ ในที่สุดแห่งสังขาร
ดำรงอยู่ในภพสุดท้าย ดำรงอยู่ในอัตภาพสุดท้าย พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าผู้ทรง
ร่างกายสุดท้ายไว้
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าใดมีภพนี้เป็นภพสุดท้าย
มีการประชุมแห่งขันธ์นี้เป็นครั้งสุดท้าย
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ไม่มีการเวียนเกิด เวียนตาย
และภพใหม่ก็ไม่มีอีก
เพราะเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น จึงชื่อว่าผู้มีสังขาตธรรม
คำว่า ผู้แน่นอน อธิบายว่า อริยมรรค 4 เรียกว่า นิยาม(ความแน่นอน)
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ประกอบด้วยอริยมรรค 4 จึงชื่อว่าผู้แน่นอน ได้แก่ บรรลุ
ถึงพร้อม ถึง สัมผัส ทำให้แจ้งความแน่นอน ด้วยอริยมรรค จึงชื่อว่าผู้แน่นอน
คำว่า มีความมุ่งมั่น อธิบายว่า วิริยะเรียกว่า ความมุ่งมั่น ได้แก่ การตั้ง
ความเพียร การก้าวออก การก้าวไปข้างหน้า การย่างขึ้นไป ความพยายาม
ความอุตสาหะ ความขยัน ความมั่นคง ความทรงไว้ ความบากบั่นไม่ย่อหย่อน
ความไม่ทอดทิ้งฉันทะ ความไม่ทอดทิ้งธุระ ความประคองธุระไว้ วิริยะ วิริยินทรีย์
วิริยพละ สัมมาวายามะอันเป็นไปทางใจ
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นประกอบ ประกอบพร้อม ดำเนินไป ดำเนินไปพร้อม
เป็นไป เป็นไปพร้อม เพียบพร้อมด้วยความมุ่งมั่นนี้ ฉะนั้น พระปัจเจกสัมพุทธ-
เจ้านั้น จึงชื่อว่ามีความมุ่งมั่น รวมความว่า ผู้มีสังขาตธรรม ผู้แน่นอน มีความ
มุ่งมั่น จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด ด้วยเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า
นั้นจึงกล่าวว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :493 }