เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [จตุตถวรรค] 8. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
ตลอดกาลสืบเนื่องกัน ตลอดกาลติดต่อกัน ตลอดกาลเป็นลำดับ ตลอดกาล
ติดต่อกันเหมือนระลอกคลื่น ตลอดกาลเป็นไปต่อเนื่องไม่ขาดสาย ตลอดกาล
สืบต่อกันกระชั้นชิด ตลอดกาลก่อนภัต หลังภัต ตลอดปุริมยาม มัชฌิมยาม
ปัจฉิมยาม ตลอดข้างแรม ข้างขึ้น ตลอดฤดูฝน ฤดูหนาว ฤดูร้อน ตลอดปฐมวัย
มัชฌิมวัย ปัจฉิมวัย รวมความว่า ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมเป็นนิจ
คำว่า พิจารณาเห็นโทษในภพแล้ว อธิบายว่า พิจารณาเห็นโทษในภพแล้ว
ว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง” พิจารณาเห็นโทษในภพแล้วว่า “สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์
ฯลฯ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ฯลฯ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้น
ทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา” รวมความว่า พิจารณาเห็นโทษในภพแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด ด้วยเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึง
กล่าวว่า
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ไม่ละการหลีกเร้นและฌาน
ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมเป็นนิจ
พิจารณาเห็นโทษในภพแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด
[156] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ปรารถนาความสิ้นตัณหา
ไม่ประมาท ไม่โง่เขลา คงแก่เรียน มีสติ
ผู้มีสังขาตธรรม ผู้แน่นอน มีความมุ่งมั่น
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด (5)
คำว่า ปรารถนาความสิ้นตัณหา ไม่ประมาท อธิบายว่า
คำว่า ตัณหา ได้แก่ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา
โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา
คำว่า ปรารถนาความสิ้นตัณหา อธิบายว่า ต้องการ ปรารถนา คือ ยินดี
มุ่งหมาย มุ่งหวังความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ ความสิ้นคติ
ความสิ้นอุปบัติ ความสิ้นปฏิสนธิ ความสิ้นภพ ความสิ้นสังขาร ความสิ้นวัฏฏะ
รวมความว่า ปรารถนาความสิ้นตัณหา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :491 }