เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [จตุตถวรรค] 8. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
คำว่า ไม่ละการหลีกเร้นและฌาน อธิบายว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น
เป็นผู้พอใจในความหลีกเร้น ยินดีในความหลีกเร้น หมั่นประกอบความสงบแห่ง
จิตภายใน ไม่ห่างจากฌาน ประกอบด้วยวิปัสสนา เพิ่มพูนการอยู่ในเรือนว่าง มีฌาน
ยินดีในฌาน หมั่นประกอบในความเป็นผู้มีจิตมีอารมณ์หนึ่งเดียว หนักในประโยชน์
ของตน รวมความว่า การหลีกเร้น
คำว่า ไม่ละ... และฌาน อธิบายว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ไม่ละฌาน
ด้วยเหตุ 2 อย่าง คือ
1. ท่านประกอบ ประกอบทั่ว ขวนขวาย มุ่งมั่น มุ่งมั่นเสมอ เพื่อความ
เกิดขึ้นแห่งปฐมฌานที่ยังไม่เกิดขึ้น... เพื่อความเกิดขึ้นแห่งทุติยฌานที่ยังไม่เกิดขึ้น...
เพื่อความเกิดขึ้นแห่งตติยฌานที่ยังไม่เกิดขึ้น ได้แก่ ประกอบ ประกอบทั่ว ขวนขวาย
มุ่งมั่น มุ่งมั่นเสมอ เพื่อความเกิดขึ้นแห่งจตุตถฌานที่ยังไม่เกิดขึ้น รวมความว่า
ไม่ละ... และฌาน อย่างนี้บ้าง
2. ท่านซ่องเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งปฐมฌานที่เกิดขึ้นแล้ว... ทุติยฌานที่
เกิดขึ้นแล้ว... ตติยฌานที่เกิดขึ้นแล้ว... ท่านซ่องเสพ เจริญทำให้มากซึ่งจตุตถฌาน
ที่เกิดขึ้นแล้ว รวมความว่า ไม่ละ... และฌาน อย่างนี้บ้าง รวมความว่า ไม่ละ
การหลีกเร้นและฌาน
คำว่า ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมเป็นนิจ อธิบายว่า สติปัฏฐาน 4
ฯลฯ อริยมรรคมีองค์ 8 เรียกว่า ธรรม
ธรรมสมควร เป็นอย่างไร
คือ การปฏิบัติชอบ การปฏิบัติสมควร การปฏิบัติไม่เป็นข้าศึก การปฏิบัติ
เอื้อประโยชน์ การปฏิบัติธรรมถูกต้องตามหลักธรรม การรักษาศีลให้บริบูรณ์
การสำรวมอินทรีย์ ความรู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร ความเป็นผู้มีความ
เพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่เสมอ สติและสัมปชัญญะ เหล่านี้เรียกว่า ธรรมสมควร
คำว่า ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมเป็นนิจ อธิบายว่า พระปัจเจก-
สัมพุทธเจ้านั้น ประพฤติอยู่ คือ อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป
ยังชีวิตให้ดำเนินไปในธรรมตลอดกาลเป็นนิจ คือ ตลอดกาลยั่งยืน ตลอดกาลต่อเนื่องกัน


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :490 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [จตุตถวรรค] 8. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
ตลอดกาลสืบเนื่องกัน ตลอดกาลติดต่อกัน ตลอดกาลเป็นลำดับ ตลอดกาล
ติดต่อกันเหมือนระลอกคลื่น ตลอดกาลเป็นไปต่อเนื่องไม่ขาดสาย ตลอดกาล
สืบต่อกันกระชั้นชิด ตลอดกาลก่อนภัต หลังภัต ตลอดปุริมยาม มัชฌิมยาม
ปัจฉิมยาม ตลอดข้างแรม ข้างขึ้น ตลอดฤดูฝน ฤดูหนาว ฤดูร้อน ตลอดปฐมวัย
มัชฌิมวัย ปัจฉิมวัย รวมความว่า ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมเป็นนิจ
คำว่า พิจารณาเห็นโทษในภพแล้ว อธิบายว่า พิจารณาเห็นโทษในภพแล้ว
ว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง” พิจารณาเห็นโทษในภพแล้วว่า “สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์
ฯลฯ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ฯลฯ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้น
ทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา” รวมความว่า พิจารณาเห็นโทษในภพแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด ด้วยเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึง
กล่าวว่า
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ไม่ละการหลีกเร้นและฌาน
ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมเป็นนิจ
พิจารณาเห็นโทษในภพแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด
[156] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ปรารถนาความสิ้นตัณหา
ไม่ประมาท ไม่โง่เขลา คงแก่เรียน มีสติ
ผู้มีสังขาตธรรม ผู้แน่นอน มีความมุ่งมั่น
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด (5)
คำว่า ปรารถนาความสิ้นตัณหา ไม่ประมาท อธิบายว่า
คำว่า ตัณหา ได้แก่ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา
โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา
คำว่า ปรารถนาความสิ้นตัณหา อธิบายว่า ต้องการ ปรารถนา คือ ยินดี
มุ่งหมาย มุ่งหวังความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ ความสิ้นคติ
ความสิ้นอุปบัติ ความสิ้นปฏิสนธิ ความสิ้นภพ ความสิ้นสังขาร ความสิ้นวัฏฏะ
รวมความว่า ปรารถนาความสิ้นตัณหา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :491 }