เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [จตุตถวรรค] 8. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
คำว่า ไม่อิงอาศัย ในคำว่า ไม่อิงอาศัย ตัดความรักและความชังได้แล้ว
อธิบายว่า การอาศัย 2 อย่าง คือ (1) การอาศัยด้วยอำนาจตัณหา (2) การอาศัย
ด้วยอำนาจทิฏฐิ ฯลฯ นี้ชื่อว่าการอาศัยด้วยอำนาจตัณหา ฯลฯ นี้ชื่อว่าการอาศัย
ด้วยอำนาจทิฏฐิ1
คำว่า ความรัก ได้แก่ ความรัก 2 อย่าง คือ (1) ความรักด้วยอำนาจตัณหา
(2) ความรักด้วยอำนาจทิฏฐิ ฯลฯ นี้ชื่อว่าความรักด้วยอำนาจตัณหา ฯลฯ นี้ชื่อว่า
ความรักด้วยอำนาจทิฏฐิ2

ว่าด้วยความชัง
คำว่า ความชัง ได้แก่ ใจปองร้าย มุ่งร้าย ขัดเคือง ขุ่นเคือง เคือง เคืองมาก
เคืองตลอด ชัง ชิงชัง เกลียดชัง ใจพยาบาท ใจแค้นเคือง ความโกรธ กิริยาที่โกรธ
ภาวะที่โกรธ ความคิดประทุษร้าย กิริยาที่คิดประทุษร้าย ภาวะที่คิดประทุษร้าย
ความคิดปองร้าย กิริยาที่คิดปองร้าย ภาวะที่คิดปองร้าย ความโกรธ ความแค้น
ความดุร้าย ความเกรี้ยวกราด ความไม่แช่มชื่นแห่งจิตเห็นปานนี้
คำว่า ไม่อิงอาศัย ตัดความรักและความชังได้แล้ว อธิบายว่า พระปัจเจก-
สัมพุทธเจ้านั้นตัดความรักด้วยอำนาจตัณหา ความรักด้วยอำนาจทิฏฐิ และความชัง
ได้แล้ว คือ ตัดขาด ถอนขึ้น ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีก
ก็ไม่อาศัยตา ไม่อาศัยหู ฯลฯ ไม่อาศัยรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน กลิ่น รส และ
โผฏฐัพพะที่ได้รับรู้ และธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้ง คือ ไม่ติดแล้ว ไม่ติดแน่นแล้ว
ไม่ติดพันแล้ว ไม่ติดใจแล้ว ได้แก่ ออกแล้ว สลัดออกแล้ว หลุดพ้นแล้ว ไม่เกี่ยวข้อง
แล้ว มีใจเป็นอิสระ(จากกิเลส)อยู่ รวมความว่า ไม่อิงอาศัย ตัดความรักและ
ความชังได้แล้ว จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด ด้วยเหตุนั้น พระปัจเจก-
สัมพุทธเจ้าจึงกล่าวว่า

เชิงอรรถ :
1 เทียบกับความในข้อ 11/80-81

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :485 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [จตุตถวรรค] 8. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ละนิวรณ์ 5 อย่าง
ขจัดอุปกิเลสแห่งจิตทั้งปวงได้แล้ว
ไม่อิงอาศัย ตัดความรักและความชังได้แล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด
[153] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ละสุขและทุกข์
โสมนัสและโทมนัสก่อน ๆ ได้แล้ว
ได้อุเบกขาและสมถะอันสะอาดแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด (2)
คำว่า ละสุขและทุกข์ โสมนัสและโทมนัสก่อน ๆ ได้แล้ว อธิบายว่า
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นบรรลุจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละ
ทุกข์และดับโสมนัสและโทมนัสก่อน ๆ ได้ มีอุเบกขาและสติอันบริสุทธิ์อยู่ รวมความว่า
ละสุข และทุกข์ โสมนัสและโทมนัสก่อน ๆ ได้แล้ว
คำว่า ได้อุเบกขาและสมถะอันสะอาดแล้ว อธิบายว่า
คำว่า อุเบกขา ได้แก่ อุเบกขา ความเพิกเฉย ความเพิกเฉยอย่างยิ่ง ความที่
จิตสงบ ความที่จิตสงัด ความที่จิตเป็นกลางในจตุตถฌาน
คำว่า สมถะ ได้แก่ ความตั้งมั่น ความดำรงมั่น ความไม่คลอนแคลน
ความไม่กวัดแกว่ง ความไม่ฟุ้งซ่านแห่งจิต ความที่จิตไม่ซัดส่าย สมถะ สมาธินทรีย์
สมาธิพละ สัมมาสมาธิ อุเบกขาและสมถะในจตุตถฌาน สะอาด คือ บริสุทธิ์
ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเครื่องยั่วยวน ปราศจากอุปกิเลส อ่อนโยน ควรแก่การงาน
ตั้งมั่น ถึงความไม่หวั่นไหว
คำว่า ได้อุเบกขาและสมถะอันสะอาดแล้ว อธิบายว่า คือ ได้รับ ประสบ
ได้เฉพาะแล้วซึ่งอุเบกขาในจตุตถฌานและสมถะ รวมความว่า ได้อุเบกขาและสมถะ
อันสะอาดแล้ว จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด ด้วยเหตุนั้น พระปัจเจก-
สัมพุทธเจ้านั้น จึงกล่าวว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :486 }