เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ตติยวรรค] 8. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
ภิกษุเมื่อวางตนสูงวางผู้อื่นต่ำ เป็นผู้มีใจผูกพัน เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุกล่าวว่า อาตมภาพมีอุปการะมากแก่พวกท่าน พวกท่านอาศัย
อาตมภาพแล้ว จึงได้ถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ถึงพระธรรมเป็นที่พึ่ง ถึงพระสงฆ์
เป็นที่พึ่ง เว้นขาดจากปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท เว้นขาด
จากสุราเมรัยอันเป็นของมึนเมาอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท อาตมภาพบอก
อุทเทสบ้าง ปริปุจฉาบ้าง อุโบสถบ้าง แก่พวกท่าน อาตมภาพอธิษฐานนวกรรม
เมื่อเป็นเช่นนั้น พวกท่านยังทอดทิ้งอาตมภาพไปสักการะ เคารพ นับถือ บูชาผู้อื่น
เมื่อวางตนสูงวางผู้อื่นต่ำ ชื่อว่าผู้มีใจผูกพัน เป็นอย่างนี้
คำว่า มีใจไม่ผูกพันในตระกูลต่าง ๆ อธิบายว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น
มีใจไม่ผูกพันด้วยกุลปลิโพธ(ความกังวลเกี่ยวกับตระกูล) คณปลิโพธ(ความกังวล
เกี่ยวกับหมู่คณะ) อาวาสปลิโพธ(ความกังวลเกี่ยวกับอาวาส) จีวรปลิโพธ(ความกังวล
เกี่ยวกับจีวร) ปิณฑบาตปลิโพธ(ความกังวลเกี่ยวกับบิณฑบาต) เสนาสนปลิโพธ
(ความกังวลเกี่ยวกับเสนาสนะ) คิลานปัจจัยเภสัชบริขารปลิโพธ(ความกังวลเกี่ยวกับ
คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร) รวมความว่า มีใจไม่ผูกพันในตระกูลต่าง ๆ จึงประพฤติ
อยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด ด้วยเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ไม่ทำความยินดีในรส
ไม่โลเล ผู้ที่ไม่ต้องเลี้ยงคนอื่น
เที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอก
มีใจไม่ผูกพันในตระกูลต่าง ๆ
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด
ตติยวรรคจบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :483 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [จตุตถวรรค] 8. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
จตุตถวรรค
[152] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ละนิวรณ์ 5 อย่าง
ขจัดอุปกิเลสแห่งจิตทั้งปวงได้แล้ว
ไม่อิงอาศัย ตัดความรักและความชังได้แล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด (1)

ว่าด้วยนิวรณ์ 5
คำว่า ละนิวรณ์ 5 อย่าง อธิบายว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ละ คือ ละทิ้ง
บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งกามฉันทนิวรณ์ (สิ่งกั้นจิตไม่ให้
ก้าวหน้าในคุณธรรมคือความพอใจในกาม) พยาบาทนิวรณ์ (สิ่งกั้นจิตไม่ให้
ก้าวหน้าในคุณธรรมคือความคิดปองร้าย) ... ถีนมิทธนิวรณ์ (สิ่งกั้นจิตไม่ให้ก้าวหน้า
ในคุณธรรมคือความหดหู่และเซื่องซึม)... อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ (สิ่งกั้นจิตไม่ให้
ก้าวหน้าในคุณธรรมคือความฟุ้งซ่านและร้อนใจ) ... วิจิกิจฉานิวรณ์ (สิ่งกั้นจิตไม่ให้
ก้าวหน้าในคุณธรรมคือความลังเลสงสัย) สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมแล้ว
บรรลุปฐมฌานอันมีวิตก มีวิจาร มีปีติสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ รวมความว่า
ละนิวรณ์ 5 อย่าง
คำว่า ขจัดอุปกิเลสแห่งจิตทั้งปวงได้แล้ว อธิบายว่า ราคะเป็นอุปกิเลส
แห่งจิต โทสะเป็นอุปกิเลสแห่งจิต โมหะเป็นอุปกิเลสแห่งจิต โกธะเป็นอุปกิเลสแห่งจิต
ฯลฯ อุปนาหะเป็นอุปกิเลสแห่งจิต ฯลฯ อกุสลาภิสังขารทุกประเภทเป็น
อุปกิเลสแห่งจิต
คำว่า ขจัดอุปกิเลสแห่งจิตทั้งปวงได้แล้ว อธิบายว่า ขจัด คือ กำจัด ละทิ้ง
บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งอุปกิเลสแห่งจิตทั้งหมดได้แล้ว รวม
ความว่า ขจัดอุปกิเลสแห่งจิตทั้งปวงได้แล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :484 }