เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ตติยวรรค] 8. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
คำว่า ผู้ที่ไม่ต้องเลี้ยงคนอื่น ในคำว่า ผู้ที่ไม่ต้องเลี้ยงคนอื่น เที่ยว
บิณฑบาตตามลำดับตรอก อธิบายว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นเลี้ยงแต่ตนเท่านั้น
ไม่เลี้ยงคนอื่น
เราเรียกบุคคลผู้ที่ไม่ต้องเลี้ยงคนอื่น รู้จักตนฝึกฝนตนได้
ตั้งมั่นอยู่ในสารธรรม สิ้นอาสวะแล้ว
ไร้ข้อบกพร่องนั้นว่าเป็นพราหมณ์1
รวมความว่า ผู้ที่ไม่ต้องเลี้ยงคนอื่น
คำว่า เที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอก อธิบายว่า เวลาเช้าพระปัจเจก-
สัมพุทธเจ้านั้น ครองผ้าแล้ว ถือบาตรจีวรเข้าหมู่บ้าน หรือนิคม เพื่อบิณฑบาต
รักษากาย รักษาวาจา รักษาจิตแล้ว ตั้งสติ สำรวมอินทรีย์ มีตาทอดลง สมบูรณ์
ด้วยอิริยาบถ เข้าออกจากตระกูลหนึ่งไปสู่ตระกูลหนึ่ง เที่ยวไปเพื่อบิณฑบาต รวม
ความว่า ผู้ที่ไม่ต้องเลี้ยงคนอื่น เที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอก
คำว่า มีใจไม่ผูกพันในตระกูลต่าง ๆ อธิบายว่า ภิกษุมีใจผูกพันด้วยเหตุ
2 อย่าง คือ
1. เมื่อวางตนต่ำวางผู้อื่นสูง ชื่อว่ามีใจผูกพัน
2. เมื่อวางตนสูงวางผู้อื่นต่ำ ชื่อว่ามีใจผูกพัน
ภิกษุเมื่อวางตนต่ำวางผู้อื่นสูง เป็นผู้มีใจผูกพัน เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุกล่าวว่า พวกท่านมีอุปการะมากแก่อาตมภาพ อาตมภาพอาศัย
พวกท่านจึงได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร คนเหล่าอื่น
อาศัยพวกท่าน เห็นกับพวกท่าน จึงเข้าใจที่จะให้ หรือจะทำแก่อาตมภาพ ชื่อและ
สกุลเก่าของมารดาบิดาของอาตมภาพสูญหายไปหมดแล้ว พวกท่านทำให้อาตมภาพ
เป็นที่รู้จักว่า “อาตมภาพ เป็นพระประจำตระกูลของอุบาสกโน้น เป็นพระประจำ
ตระกูลของอุบาสิกาโน้น” ดังนี้ เมื่อวางตนต่ำ วางผู้อื่นสูง ชื่อว่าเป็นผู้มีใจผูกพัน
เป็นอย่างนี้

เชิงอรรถ :
1 ขุ.อุ. 25/6/98

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :482 }