เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 1. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งตถาคตพลญาณ1 10
เวสารัชชญาณ2 4 ปฏิสัมภิทา3 4 อภิญญา4 6 พุทธธรรม5 6 จึงชื่อว่า
พระผู้มีพระภาค
พระนามว่า พระผู้มีพระภาค นี้ มิใช่พระชนนีทรงตั้ง มิใช่พระชนกทรงตั้ง
มิใช่พระภาดาทรงตั้ง มิใช่พระภคินีทรงตั้ง มิใช่มิตรและอำมาตย์ตั้ง มิใช่พระญาติ
และผู้ร่วมสายโลหิตทรงตั้ง มิใช่สมณพราหมณ์ตั้ง มิใช่เทวดาตั้ง
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นวิโมกขันติกนาม (พระนามในลำดับการ
บรรลุอรหัตตผล) เป็นสัจฉิกาบัญญัตติ (บัญญัติที่เกิดเพราะทรงรู้แจ้งอรหัตตผล)
ของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย พร้อมกับการบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ที่
โคนต้นโพธิ์ รวมความว่า พระผู้มีพระภาค ตรัสตอบว่า อชิตะ

เชิงอรรถ :
1 ตถาคตพลญาณ หมายถึงพระญาณอันเป็นกำลังของพระตถาคต 10 ประการ ที่ทำให้พระองค์บันลือ
สีหนาท ประกาศพระศาสนาได้มั่นคง คือ (1) ฐานาฐานญาณ ปรีชาหยั่งรู้กฎธรรมชาติเกี่ยวกับ
ขอบเขตและขีดขั้นของสิ่งทั้งหลาย (2) กัมมวิปากญาณ ปรีชาหยั่งรู้ผลของกรรม (3) สัพพัตถ-
คามินีปฏิปทาญาณ ปรีชาหยั่งรู้ข้อปฏิบัติที่จะนำไปสู่คติทั้งปวง หรือสู่ประโยชน์ทั้งปวง (4) นานาธาตุ-
ญาณ ปรีชาหยั่งรู้สภาวะของโลกอันประกอบด้วยธาตุต่าง ๆ เป็นอเนก (5) นานาธิมุตติกญาณ
ปรีชาหยั่งรู้อัธยาศัยเป็นต้นของสัตว์ทั้งหลาย (6) อินทริยปโรปริยัตตญาณ ปรีชาหยั่งรู้ความยิ่งหย่อน
แห่งอินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลาย (7) ฌานาทิสังกิเลสาทิญาณ ปรีชาหยั่งรู้ความเศร้าหมอง ความผ่องแผ้ว
เป็นต้น (8) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ปรีชาหยั่งรู้ภพที่เคยอยู่ในหนหลังได้ (9) จุตูปปาตญาณ
ปรีชาหยั่งรู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย (10) อาสวักขยญาณ ปรีชาหยั่งรู้ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย
(องฺ.ทสก. (แปล) 24/21/43-47)
2 เวสารัชชญาณ 4 คือพระญาณอันเป็นเหตุให้ทรงแกล้วกล้า ไม่ครั่นคร้าม ได้แก่ (1) สัมมาสัมพุทธ
ปฏิญญา (2) ขีณาสวปฏิญญา (3) อันตรายิกธัมมวาทะ (4) นิยยานิกธัมมเทสนา (ม.มู. 12/150/
110-111)
3 ปฏิสัมภิทา 4 หมายถึงปัญญาแตกฉาน 4 อย่าง คือ (1) อัตถปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในอรรถ
ปรีชาแจ้งในความหมาย (2) ธัมมปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในธรรม ปรีชาแจ้งในหลัก (3) นิรุตติ-
ปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในนิรุตติ ปรีชาแจ้งในภาษา ศัพท์ ถ้อยคำบัญญัติ (4) ปฏิภาณปฏิสัมภิทา
ปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ ปรีชาแจ้งในความคิดทันการ มีไหวพริบ(องฺ.จตุกฺก.(แปล) 21/172
/242-243)
4 อภิญญา 6 คือ ความรู้ยิ่งยวด (1) อิทธิวิธิ ความรู้ทำให้แสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ได้ (2) ทิพพโสต
ญาณที่ทำให้มีหูทิพย์ (3) เจโตปริยญาณ ญาณที่ทำให้กำหนดใจคนอื่นได้ (4) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
ญาณที่ทำให้ระลึกชาติได้ (5) ทิพพจักขุ ญาณที่ทำให้ตาทิพย์ (6) อาสวักขยญาณ ญาณที่ทำให้
อาสวะสิ้นไป 5 ข้อแรกเป็นโลกียะ (โลกียอภิญญา) ข้อสุดท้ายเป็นโลกุตตระ (ที.สี. (แปล) 9/234-248/
77-84)
5 พุทธธรรม 6 หมายถึงพระปัญญาจักขุของพระพุทธเจ้า ที่ทรงทราบกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม
ทั้งหมด เป็นต้น (ขุ.ม.อ. 50/266) และดูรายละเอียดข้อ 85/301-303)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :48 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 1. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
ว่าด้วยความตระหนี่ 5 อย่าง
คำว่า โลกไม่สดใสเพราะความตระหนี่และความประมาท อธิบายว่า
มัจฉริยะ 5 อย่าง เรียกว่า ความตระหนี่ คือ

1. อาวาสมัจฉริยะ (ความตระหนี่ที่อยู่)
2. กุลมัจฉริยะ (ความตระหนี่ตระกูล)
3. ลาภมัจฉริยะ (ความตระหนี่ลาภ)
4. วัณณมัจฉริยะ (ความตระหนี่วรรณะ)
5. ธัมมมัจฉริยะ (ความตระหนี่ธรรม)

ความตระหนี่ กิริยาที่ตระหนี่ ภาวะที่ตระหนี่ ความเห็นแก่ได้ ความถี่เหนียว
ความที่จิตเจ็บร้อน(ในการให้) ความที่จิตหวงแหนเห็นปานนี้ นี้ ตรัสเรียกว่า
ความตระหนี่
อีกนัยหนึ่ง ความตระหนี่ขันธ์ก็ดี ความตระหนี่ธาตุก็ดี ความตระหนี่
อายตนะก็ดี ความมุ่งแต่จะได้ก็ดี นี้ ก็เรียกว่า ความตระหนี่
ขอกล่าวถึงความประมาท ความปล่อยจิตไปหรือการเพิ่มพูนความปล่อยจิต
ไปในกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต หรือในกามคุณ 5 อย่าง การทำโดย
ไม่เคารพ การทำที่ไม่ให้ติดต่อ การทำที่ไม่มั่นคง ความประพฤติย่อหย่อน
ความทอดทิ้งฉันทะ ความทอดทิ้งธุระ ความไม่เสพ ความไม่เจริญ ความไม่
ทำให้มาก ความตั้งใจไม่จริง ความไม่หมั่นประกอบ ความประมาทในการเจริญ
กุศลธรรมทั้งหลาย ชื่อว่าความประมาท ความประมาท กิริยาที่ประมาท ภาวะที่
ประมาทมีลักษณะเช่นว่านี้ นี้ ตรัสเรียกว่า ความประมาท
คำว่า โลกไม่สดใสเพราะความตระหนี่และความประมาท อธิบายว่า โลก
ไม่สดใส คือ ไม่ส่องสว่าง ไม่แผดแสง ไม่รุ่งโรจน์ ไม่แจ่มชัด ไม่ปรากฏชัด
เพราะความตระหนี่และความประมาทนี้ รวมความว่า โลกไม่สดใสเพราะความ
ตระหนี่และความประมาท

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :49 }