เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ตติยวรรค] 8. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
คำว่า การเล่น ความยินดี และกามสุขในโลก อธิบายว่า
คำว่า การเล่น ได้แก่ การเล่น 2 อย่าง คือ (1) การเล่นทางกาย
(2) การเล่นทางวาจา ฯลฯ นี้ชื่อว่าการเล่นทางกาย ฯลฯ นี้ชื่อว่าการเล่น
ทางวาจา1
คำว่า ความยินดี อธิบายว่า
คำว่า ความยินดี นี้ เป็นชื่อของความไม่เบื่อหน่าย
คำว่า กามสุข อธิบายว่า สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย
กามคุณมี 5 อย่างเหล่านี้ 5 อย่างอะไรบ้าง คือ
1. รูปที่พึงรู้แจ้งทางตา น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่
พาใจให้กำหนัด
2. เสียงที่พึงรู้แจ้งทางหู...
3. กลิ่นที่พึงรู้แจ้งทางจมูก...
4. รสที่พึงรู้แจ้งทางลิ้น...
5. โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งทางกาย น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก
ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
ภิกษุทั้งหลาย กามคุณ 5 อย่างนี้แล ภิกษุทั้งหลาย สุข โสมนัสอันใดแล
อาศัยกามคุณ 5 นั้นเกิดขึ้น โสมนัสนี้ เรียกว่า กามอันเป็นสุข2
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในมนุษยโลก รวมความว่า การเล่น ความยินดี และ
กามสุขในโลก
คำว่า ไม่ชื่นชม... ไม่ใส่ใจ อธิบายว่า ไม่ชื่นชม คือ ไม่ใส่ใจ ละ บรรเทา
ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งการเล่น ความยินดี และกามสุขในโลก รวม
ความว่า ไม่ชื่นชม... ไม่ใส่ใจ

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 127/420
2 ม.อุ. 14/328/299 - 300

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :465 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ตติยวรรค] 8. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
ว่าด้วยการประดับตกแต่ง 2 อย่าง
คำว่า การประดับตกแต่ง ในคำว่า งดเว้นจากฐานะแห่งการประดับตกแต่ง
พูดคำจริง ได้แก่ การประดับตกแต่ง 2 อย่าง คือ
1. การประดับตกแต่งของคฤหัสถ์
2. การประดับตกแต่งของบรรพชิต
การประดับตกแต่งของคฤหัสถ์ เป็นอย่างไร
คือ การแต่งผม การแต่งหนวด การทัดดอกไม้ การประพรมเครื่องหอม
การย้อมผิว การใช้เครื่องประดับ การใช้เครื่องแต่งตัว การนุ่งผ้าสวยงาม การ
ประดับข้อมือ การโพกผ้าโพกศีรษะ การอบตัว การนวดตัว การอาบน้ำ การดัดตัว
การส่องกระจก การทาเปลือกตา การสวมพวงดอกไม้ การทาปาก การเจิมหน้า
การผูกข้อมือ การเกล้าผม การใช้ไม้เท้า การใช้ทะนาน การใช้พระขรรค์ การใช้ร่ม
การสวมรองเท้าสวยงาม การติดกรอบหน้า การปักปิ่น การใช้พัด การนุ่งผ้าขาว
การนุ่งผ้าชายยาว นี้ชื่อว่าการประดับตกแต่งของคฤหัสถ์
การประดับตกแต่งของบรรพชิต เป็นอย่างไร
คือ การตกแต่งจีวร การตกแต่งบาตร การตกแต่งเสนาสนะ การตกแต่ง
การประดับประดา การเล่นสนุกในการประดับ ความเพลิดเพลินในการประดับ
ความปรารถนาการประดับ ความเป็นผู้ปรารถนาการประดับ กิริยาที่ประดับ
ความเป็นกิริยาที่ประดับร่างกายอันเน่าเปื่อยนี้ หรือบริขารอันเป็นภายนอก นี้ชื่อว่า
การประดับตกแต่งของบรรพชิต
คำว่า พูดคำจริง อธิบายว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น เป็นผู้พูดจริง ตั้งมั่น
ในความสัตย์ มีถ้อยคำมั่นคง เชื่อถือได้ ไม่กล่าวคำหลอกลวงชาวโลก งด งดเว้น
คือ เว้นขาดจากฐานะแห่งการประดับ ได้แก่ ออก สลัดออก หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้อง
มีใจเป็นอิสระ(จากกิเลส) อยู่ รวมความว่า งดเว้นจากฐานะแห่งการประดับ พูดคำ
จริง จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด ด้วยเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น
จึงกล่าวว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :466 }