เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ตติยวรรค] 8. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส

1. สัมมาทิฏฐิ 2. สัมมาสังกัปปะ
3. สัมมาวาจา 4. สัมมากัมมันตะ
5. สัมมาอาชีวะ 6. สัมมาวายามะ
7. สัมมาสติ 8. สัมมาสมาธิ

พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าผู้เพียบพร้อมด้วยอริยมรรค 4 ประการ ชื่อว่าถึง
นิยาม คือ ถึง ถึงพร้อม บรรลุ สัมผัส ทำให้แจ้ง รวมความว่า ถึงนิยาม
คำว่า ได้เฉพาะมรรคแล้ว อธิบายว่า ได้มรรคแล้ว ได้เฉพาะมรรคแล้ว คือ
บรรลุ ถูกต้อง ทำมรรคให้แจ้งแล้ว รวมความว่า ถึงนิยาม ได้เฉพาะมรรคแล้ว
คำว่า เป็นผู้มีญาณเกิดขึ้นแล้ว ไม่ต้องให้ผู้อื่นแนะนำ อธิบายว่า ญาณ
เกิดขึ้น คือ เกิดขึ้นพร้อม บังเกิด บังเกิดขึ้น ปรากฏแก่พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น
คือ ญาณเกิดขึ้น เกิดขึ้นพร้อม บังเกิด บังเกิดขึ้น ปรากฏว่า “สังขารทั้งปวง
ไม่เที่ยง ฯลฯ สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ฯลฯ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ฯลฯ สิ่งใด
สิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา”
รวมความว่า เป็นผู้มีญาณเกิดขึ้นแล้ว
คำว่า ไม่ต้องให้ผู้อื่นแนะนำ อธิบายว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นไม่ให้ใคร
แนะนำ คือ ไม่ต้องมีใครทำให้เชื่อ ไม่ต้องมีใครเป็นปัจจัย ถึงญาณไม่เกี่ยวข้อง
กับผู้อื่น เป็นผู้ไม่หลงลืม รู้ตัว มีสติตั้งมั่น รู้เห็นตามความเป็นจริง คือ เป็นผู้ไม่หลงลืม
รู้ตัว มีสติตั้งมั่น รู้เห็นตามความเป็นจริงว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ฯลฯ สังขารทั้งปวง
เป็นทุกข์ ฯลฯ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ฯลฯ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็น
ธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา” รวมความว่า เป็นผู้มี
ญาณเกิดขึ้นแล้ว ไม่ต้องให้ผู้อื่นแนะนำ จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด
ด้วยเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ประพฤติล่วงทิฏฐิ
อันเป็นเสี้ยนหนาม ถึงนิยาม ได้เฉพาะมรรคแล้ว
เป็นผู้มีญาณเกิดขึ้นแล้ว ไม่ต้องให้ผู้อื่นแนะนำ
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :454 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ตติยวรรค] 8. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
[142] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) เป็นผู้ไม่โลภ ไม่หลอกลวง
ไม่กระหาย ไม่มีความลบหลู่ กำจัดกสาวะ (กิเลสดุจน้ำย้อม)
และโมหะได้แล้ว ไม่มีความมุ่งหวัง ในโลกทั้งปวงแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด (2)
คำว่า เป็นผู้ไม่โลภ ไม่หลอกลวง ไม่กระหาย อธิบายว่า ตัณหาเรียกว่า
ความโลภ ได้แก่ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ฯลฯ อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ1
ตัณหา คือความโลภนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดราก
ถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิด
ขึ้นต่อไปไม่ได้ ฉะนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น จึงชื่อว่าเป็นผู้ไม่โลภ

ว่าด้วยความหลอกลวง 3 อย่าง
คำว่า ไม่หลอกลวง อธิบายว่า ความหลอกลวง 3 อย่าง คืออ
1. ความหลอกลวงเกี่ยวกับการใช้สอยปัจจัย
2. ความหลอกลวงเกี่ยวกับอิริยาบถ
3. ความหลอกลวงเกี่ยวกับการพูดเลียบเคียง
ความหลอกลวงเกี่ยวกับการใช้สอยปัจจัย เป็นอย่างไร
คือ คหบดีทั้งหลายในโลกนี้ ย่อมนิมนต์ภิกษุ ถวายจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ
และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ภิกษุนั้น มีความปรารถนาเลวทราม ถูกความอยาก
ครอบงำ มีความต้องการจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร
เพราะต้องการได้ให้มากยิ่งขึ้น จึงบอกคืนจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย
เภสัชบริขาร เธอพูดอย่างนี้ว่า “จีวรที่มีค่ามากจะมีประโยชน์อะไรแก่สมณะ สมณะ
ควรเที่ยวเลือกเก็บผ้าเก่าจากป่าช้า กองหยากเยื่อ หรือร้านตลาด เอามาทำ
สังฆาฏิใช้ จึงจะเป็นการเหมาะสม บิณฑบาตที่มีค่ามากจะมีประโยชน์อะไรแก่สมณะ

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 2/50-51

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :455 }